ครั้งแรกในประเทศไทยกับการขนส่งปลาชะโอนยักษ์จากเมียนมาสู่ไทยเพื่อความร่วมมือด้านการวิจัย

ครั้งแรกในประเทศไทยกับการขนส่งปลาชะโอนยักษ์จากเมียนมาสู่ไทยเพื่อความร่วมมือด้านการวิจัย

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 พ.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ค. 2567

| 651 view

เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน - ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๗ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับกรมประมง เดินทางไปขนย้ายปลาชะโอนยักษ์ ณ สถาบันประมงเมืองตวนเต เมียนมา ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญภายใต้โครงการวิจัยร่วมว่าด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงปลาเศรษฐกิจ ไทย – เมียนมา (ปลาชะโอนยักษ์) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำปลาชนิดดังกล่าวจำนวน ๕๐ ตัว มาศึกษาวิจัยด้านการเพาะเลี้ยงและการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างสองประเทศ

ปลาชะโอนยักษ์มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Silonia Silondia เป็นปลาในกลุ่มปลาสังกระวาดของไทย คาดว่ามีกระจายพันธุ์ในแหล่งน้ำจืดถึงน้ำกร่อยของเมียนมา บังกลาเทศ ศรีลังกา และอินเดีย ปัจจุบันเอกสารการศึกษาปลาชนิดนี้ส่วนใหญ่มาจากอินเดีย ในเมียนมาสามารถพบได้ในแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำอิระวดี แม่น้ำตวนเต ขณะที่ในเมียนมามีการจับปลาชะโอนยักษ์จากแหล่งธรรมชาติเพื่อเลี้ยงให้มีขนาดใหญ่ก่อนจำหน่าย แต่ยังไม่สามารถเพาะพันธุ์ได้ เป็นปลาที่ชาวเมียนมานิยมนำมารับประทาน

ในการนำปลาชะโอนยักษ์มาเพื่อการศึกษาวิจัยดังกล่าว กรมประมงไทยและกรมประมงเมียนมา ได้มีการหารือร่วมกันเป็นระยะตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ อย่างไรก็ดีเนื่องจากข้อจำกัดบางประการและสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้จำเป็นต้องชะลอการดำเนินงานโครงการ จนกระทั่งสามารถนำปลาชะโอนยักษ์เข้ามาศึกษาวิจัยได้ในปี ๒๕๖๗

ปลาชะโอนยักษ์ที่ขนส่งมาจากเมืองตวนเตจะถูกนำมาเลี้ยงที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อศึกษาชีววิทยาของปลา การกินอาหาร การเพาะเลี้ยงให้เจริญเติบโต และการพัฒนาแนวทางการเพาะพันธุ์ ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มประชากรปลาชะโอนยักษ์ให้มีจำนวนมากยิ่งขั้น โดยมีการถ่ายทอดผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวร่วมกับฝ่ายเมียนมาและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกันต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ