วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ส.ค. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 8 ส.ค. 2567
เมื่อวันที่ 1 - 2 สิงหาคม 2567 นางชรินทร์ทิพย์ ยศธแสนย์ ผู้อำนวยการกองความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ เข้าร่วมประชุมสรุปผลเสร็จสิ้นการดำเนินโครงการ Education for Children with Special Needs Development สาขาการศึกษา แผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย – ลาว ร่วมกับนายหุมพัน แก้วอุ่นคำ หัวหน้าศูนย์การศึกษาเรียนร่วม กระทรวงศึกษาธิการ และกีฬา สปป. ลาว โดยมี รศ. ดร. เกยูร วงศ์ก้อม หัวหน้าศูนย์การศึกษาพิเศษ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ผู้เชี่ยวชาญ ภายใต้โครงการฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย ณ กระทรวงศึกษาธิการ และกีฬา สปป. ลาว นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว รวมทั้งเข้าร่วมพิธีปิดและมอบประกาศนียบัตรหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาภาษามือภายใต้โครงการดังกล่าว
สำหรับกิจกรรมฝึกอบรมพัฒนาภาษามือเป็นกิจกรรมสุดท้ายภายใต้ผลผลิตที่ 1 การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรในการร่วมกันออกแบบและพัฒนาภาษามือของ สปป. ลาว เพื่อยกระดับให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2567 ณ สปป. ลาว โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 30 คน จาก (1) ศูนย์การศึกษาเรียนร่วม (2) โรงเรียนการศึกษาคนพิการ จากนครหลวงเวียงจันทน์ และแขวงหลวงพระบาง (3) สมาคมคนหูหนวกลาว (4) ศูนย์แห่งความหวัง นครหลวงเวียงจันทน์ (5) ลานชุมชน (6) สมาชิกคนหูหนวก นครหลวงเวียงจันทน์ (7) ผู้แทนคนหูหนวก แขวงหลวงพระบาง (8) โรงเรียนประถมพะไซ (9) โรงเรียนนำร่อง 3 แห่ง (โรงเรียนมัธยมสมบูรณ์จันสะหว่าง/ โรงเรียนประถมสัมบูรณ์จันสะหว่าง/ โรงเรียนประถมสมบูรณ์สะพานทองเหนือ) ทั้งนี้ โครงการ Education for Children with Special Needs Development ได้ดำเนินกิจกรรมครบถ้วนแล้ว
โครงการ Education for Children with Special Needs Development เป็นหนึ่งในโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนา สาขาการศึกษา ภายใต้แผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย-สปป.ลาว ระยะ 3 ปี ฉบับที่ 2 (ปี 2566 – 2568) ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่แผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย-สปป.ลาว ระยะ 3 ปี ฉบับที่ 1 ปี 2563 – 2565 และได้ขยายระยะเวลาดำเนินการต่อเนื่องถึงปี 2567 เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์ COVID – 19 โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต (หน่วยงานดำเนินโครงการ) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้บุคลากร สปป. ลาว มีความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านการบริหารจัดการโรงเรียน/สถานศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และให้สถานศึกษามีสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ประกอบด้วย 5 ผลผลิต ได้แก่
(1) ผลผลิตที่ 1 การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร โดยมีการฝึกอบรมทั้งแบบออนไลน์ (ในช่วง COVID – 19) และลงพื้นที่ อาทิ การฝึกอบรมด้านการประเมินและคัดกรองเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ด้านจิตวิทยาทางการศึกษาพิเศษการจัดทำสื่อเป็นเอกสารประกอบการเรียนการเรียนการสอน และการจัดทำแผนการศึกษา
(2) ผลผลิตที่ 2 หลักสูตรการเรียนการสอนมีการปรับปรุงให้เหมาะสมสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
(3) ผลผลิตที่ 3 การสนับสนุนอุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
(4) ผลผลิตที่ 4 โรงเรียนนำร่องขยายผลและถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังโรงเรียนต่าง ๆ
(5) ผลผลิตที่ 5 การติดตาม และประเมินผลโครงการ โดยผู้เชี่ยวชาญติดตามประเมินการสอนตามรายวิชา และติดตามการขยายผลการพัฒนาครูในโรงเรียน เพื่อช่วยส่งเสริมด้านการศึกษาให้แก่ประชาชนลาวอย่างทั่วถึง ตามเป้าหมายที่ 4 (Quality Education) ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม
รูปภาพประกอบ