พิธีรับมอบเตียงนวัตกรรมพลิกตะแคงจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และ บริษัท กรุงเทพครุภัณฑ์เวชภัณฑ์ จำกัด และการหารือแนวทางการพัฒนาความร่วมมือ ระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

พิธีรับมอบเตียงนวัตกรรมพลิกตะแคงจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และ บริษัท กรุงเทพครุภัณฑ์เวชภัณฑ์ จำกัด และการหารือแนวทางการพัฒนาความร่วมมือ ระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ก.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 ก.ค. 2565

| 693 view

เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๕ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้รับมอบเตียงนวัตกรรมพลิกตะแคง จำนวน ๒ เตียง เพื่อให้กับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ใช้ประโยชน์​ในโครงการด้าน​สาธารณสุข​กับประเทศ​เพื่อนบ้าน โดยเตียงนวัตกรรมพลิกตะแคงเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) โดยได้ร่วมมือกับบริษัท กรุงเทพครุภัณฑ์เวชภัณฑ์ จำกัด ดำเนินการผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ เตียงดังกล่าวเป็นนวัตกรรมของไทยที่คิดค้นขึ้นสำหรับผู้ป่วยอัมพาตที่จำเป็นต้องพลิกตัวเป็นประจำทุก ๆ ๑ - ๒ ชั่วโมง โดยมีนวัตกรรมช่วยผู้ป่วยพลิกตัวผ่านการควบคุมด้วยระบบยกที่ออกแบบมาไว้บริเวณด้านล่างของเตียง ซึ่งสามารถลดภาระการดูแลของพยาบาลและญาติได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เบาะ Doctor-N Medigel ที่ทำจากวัสดุยางพารายังมีคุณสมบัติช่วยกระจายแรงผู้ป่วยเมื่อเวลาผ่าตัด ซึ่งจะสามารถลดโอกาสของการเกิดแผลกดทับและยังสามารถจัดท่าให้กับผู้ป่วยในห้องผ่าตัดได้อีกด้วย

ในโอกาสเดียวกัน อธิบดีกรมความร่วมมือฯ ได้หารือ ดร. ลัษมณ อรรถาพิช ที่ปรึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผศ.นพ.กิตติพงศ์ เรียบร้อย รองคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลคณะแพทยศาสตร์ และ ผอ. รพ. สงขลานครินทร์ ผศ.พญ.นลินี โกวิทวนาวงษ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหาร นโยบายและแผน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และหัวหน้าโครงการวิจัยและเตียงนวัตกรรมพลิกตะแคง และ ผศ.คำรณ พิทักษ์ ผอ. อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ และคณะผู้แทนจาก สกสว. และ มอ.  เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกรมความร่วมมือฯ สกสว. และ มอ. โดยในหลักการ เห็นว่า กรมความร่วมมือฯ และ สกสว. มีแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกัน ในการเผยแพร่นวัตกรรมไทยและถ่ายทอดองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของไทยไปยังต่างประเทศ และการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation) และการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งนอกเหนือจากนวัตกรรมทางการแพทย์ สกสว. ยังมีนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านเกษตรและอาหาร ด้านวัสดุชีวภาพ และเคมีชีวะภาพ เป็นต้น

นอกจากนี้ อธ. กรมความร่วมมือฯ แจ้งว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ถือได้ว่าเป็นหัวใจของการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของกรมฯ และที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนจาก มอ. เป็นอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะการจัดหลักสูตรทุนฝึกอบรมทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทุนระดับปริญญา และล่าสุด กรมความร่วมมือฯ จะมีการสนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านแพทยศาสตร์ให้แก่ผู้รับทุนจาก สปป. ลาว ไปศึกษาต่อที่ มอ. ในอนาคต ทุกฝ่ายเห็นพ้องที่จะต่อยอดความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นรูปธรรมผ่านกรอบความร่วมมือพหุภาคีต่าง ๆ โดยเฉพาะในกรอบความร่วมมือ ACMECS ต่อไป

ทั้งนี้ เตียงที่ได้รับมอบในวันนี้มีกรมความร่วมมือฯ จะสนับสนุนให้แก่โรงพยาบาลเมืองโพนโฮง แขวงเวียนจันทน์ สปป. ลาว และโรงพยาบาลตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ