พิธีส่งมอบจักรเย็บผ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้แก่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ณ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว

พิธีส่งมอบจักรเย็บผ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้แก่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ณ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 พ.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ค. 2567

| 389 view

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 นางอรุณี ไฮม์ม รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นประธานในพิธีส่งมอบจักรเย็บผ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้แก่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ณ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โครงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้แก่ สปป. ลาว เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของสถาบันพัฒนาฝืมือแรงงานของประเทศเพื่อนบ้านให้มีทักษะและฝีมือในสาขาที่ตรงกับความต้องการตามแนวชายแดนและสร้างรายได้เสริมให้กับตนเองได้ โดยมีนายโดอิ นามวิไล ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว พร้อมด้วยผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยและลาวที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธีดังกล่าว หลังจากนั้นได้เยี่ยมชมห้องการเรียนการสอนการตัดเย็บเสื้อผ้าที่ใช้จักรเย็บผ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมความร่วมมือฯ 

กรมความร่วมมือฯ ได้จัดส่ง ติดตั้งและการฝึกอบรมสอนการใช้จักรและอุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน นครหลวงเวียงจันทน์ ระหว่างวันที่ 21 - 24 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ประกอบด้วยจักรเย็บผ้าและอุปกรณ์ที่จำเป็น จำนวน 8 รายการ ได้แก่ (1) จักรเย็บผ้า (จักรอุตสาหกรรม) จำนวน 12 เครื่อง (2) จักรคอมพิวเตอร์ จำนวน 12 เครื่อง (3) จักรแซกแถบผ้า จำนวน 2 เครื่อง (4) จักรแซกรังกระดุม จำนวน 2 เครื่อง (5) จักรลาแถบผ้า จำนวน 2 เครื่อง (6) หุ่นชาย จำนวน 2 ตัว (7) หุ่นหญิง จำนวน 6 ตัว (8) เตารีดพร้อมโต๊ะรีดผ้า จำนวน 2 ชุด

ในพิธีส่งมอบจักรเย็บผ้าและอุปกรณ์ในครั้งนี้ นางอรุณี ไฮม์ม รองอธิบดีกรมความร่วมมือฯ ได้กล่าวย้ำให้ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานนครหลวงเวียงจันทน์ใช้จักรเย็บผ้าและอุปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งจัดทำรายงานผลการใช้ประโยชน์ให้แก่สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ เพื่อส่งให้กรมความร่วมมือฯ ทราบต่อไป และหากศูนย์ฯประสบปัญหาติดขัดในการใช้งานจักรเย็บผ้าดังกล่าวขอให้แจ้งผ่านสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ เพื่อให้บริษัทสยามแฟคตอรี่ จำกัด ดำเนินการให้คำแนะนำและแก้ไขปัญหาต่อไป นอกจากนี้ ผู้แทนกรมความร่วมมือฯ ได้เสนอแนะให้ผู้อำนวยการศูนย์ฯ พิจารณาถึงประเด็นอื่น ๆ ที่ต้องการจะพัฒนาในอนาคต เช่น การพัฒนาบุคลากรของศูนย์ฯ การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การเพิ่มมูลค่าของการตัดเย็บเสื้อผ้าให้สูงขึ้น เป็นต้น ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานนครหลวงเวียงจันทน์ มีความเข้มแข็งและสามารถขยายผลในการพัฒนาทักษะอาชีพต่อไปให้กับประชาชนลาวได้

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ