พิธีเปิดหลักสูตรฝึกอบรมด้านเกษตรผสมผสาน ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรครัวเรือนต้นแบบเมืองนาซายทอง เมืองสังทอง นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว

พิธีเปิดหลักสูตรฝึกอบรมด้านเกษตรผสมผสาน ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรครัวเรือนต้นแบบเมืองนาซายทอง เมืองสังทอง นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 พ.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 พ.ค. 2566

| 755 view

วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ร่วมกล่าวในพิธีเปิดหลักสูตรฝึกอบรมด้านเกษตรผสมผสาน สำหรับเกษตรกรลาว 40 คน โดยมีนางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร และนายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกล่าวในพิธีเปิดการอบรมหลักสูตรดังกล่าวด้วย โดยการอบรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 - 3 พฤษภาคม 2566 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศยังได้ร่วมมอบปัจจัยการผลิต ได้แก่ ก้อนเห็ด เมล็ดพันธุ์ผักต่าง ๆ ให้เกษตรกรของลาวด้วย

ภายหลังจากการเข้าร่วมพิธีเปิดแล้ว อธิบดีกรมความร่วมมือฯ ได้ร่วมนั่งรถรางชมกิจกรรมต่าง ๆ ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ด้วย โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ได้ศึกษา ทดลอง และขยายผลสัตว์เศรษฐกิจ 4 ดำภูพาน ให้เกษตรกรรอบ ๆ ศูนย์ฯ ด้วย ซึ่ง 4 ดำภูพาน คือ ไก่ดำภูพาน สุกรดำภูพาน โคเนื้อ โคทาจิมะ ซึ่งเป็นโคที่ได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์มาจากโคทาจิมะ ซึ่งเป็นสายพันธุ์วากิว หรือโคญี่ปุ่น และกระต่ายดำ

หลักสูตรฝึกอบรมด้านเกษตรผสมผสาน เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรครัวเรือนต้นแบบเมืองนาซายทอง เมืองสังทอง นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ระยะเวลาโครงการ 3 ปี (2563-2566) โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรให้ครัวเรือนต้นแบบ 100 ราย ใน 3 ด้าน คือ ด้านประมง 30 ราย ปศุสัตว์ 30 ราย และเกษตรผสมผสาน 40 ราย เพื่อให้เกษตรกรได้รับความรู้ เทคนิคทางการเกษตร เทคโนโลยีสำหรับการเพิ่มผลผลิต การสร้างมาตรฐานคุณภาพผลผลิตและเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตทางการเกษตรและนำความรู้ที่ได้รับไปขยายผลต่อให้แก่เกษตรกรรายอื่นต่อไป สำหรับการอบรมในด้านประมงและปศุสัตว์ได้ดำเนินการไปแล้ว เมื่อวันที่ 1-2 กันยายน 2565 ณ ศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน – ห้วยซั้ว (หลัก 22) สปป.ลาว

การดำเนินงานโครงการข้างต้น นอกจากจะเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนไทยและลาวแล้ว ยังทำให้ สปป.ลาว สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG ในเป้าหมายที่ 12: สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมเพื่อสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของประเทศให้นำไปสู่รูปแบบการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน สำหรับประเทศไทยนั้น เป็นการบรรลุเป้าหมายที่ 17 เป็นการเสริมสร้างสถานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของไทย ผ่านการดำเนินความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อการพัฒนาให้เป็นไปตามเป้าหมายในการเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และยังเป็นการป้องกันปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของไทย เช่น ปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน ปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ โดยการสร้างอาชีพให้แก่ประชาชน เพื่อบรรเทาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนใน สปป. ลาว

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ