วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ส.ค. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ภาพรวมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทย
ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (Official Development Assistance : ODA) ของประเทศไทยแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ๑) ความช่วยเหลือแบบเงินให้เปล่า/ความร่วมมือทางวิชาการ (Grant and Technical Cooperation) ๒) ความช่วยเหลือทางการเงิน หรือเงินกู้ผ่อนปรน (Financial Assistance and Soft Loan) และ ๓) เงินบริจาค/เงินสนับสนุนแก่องค์กรพหุภาคีและองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร (Contribution to International Organizations)
การดำเนินงาน ODA ของประเทศไทย รัฐบาลได้จัดตั้ง ๒ หน่วยงาน เพื่อกำกับดูแลและบริหารงาน ODA ของประเทศไทย ได้แก่ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการบริหารความร่วมมือทางวิชาการ ส่วนอีกหนึ่งหน่วยงาน คือ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (Neighbouring Countries Economic Development Cooperation Agency (Public Organization)) หรือ NEDA สังกัดกระทรวงการคลัง มีบทบาทรับผิดชอบดูแลการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
สำหรับเงินบริจาคนั้น แต่ละหน่วยงานที่มีพันธกรณีที่ได้ผูกพันไว้กับองค์การระหว่างประเทศจะดำเนินการเอง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น
ประเทศไทยโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้รายงานข้อมูล ODA ของไทยต่อ องค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจเเละการพัฒนา (OECD-Organization for Economic Cooperation and development) ทุกปี ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ (ค.ศ ๒๐๐๖) โดยความสมัครใจ (voluntary basis) ซึ่ง OECD กำหนดให้กลุ่มประเทศ donors เท่านั้นที่ต้องรายงาน ปัจจุบันแม้ว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิกของ Development Assistance Committee/ OECD หรือ Non-DAC และ OECD ยังคงจัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศผู้รับในกลุ่มประเทศ Upper-Middle Income Country แต่ OECD ได้มีการบันทึกข้อมูลการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศของไทยไว้ด้วย ซึ่งเป็นการแสดงถึงสถานะและบทบาทของไทยที่ประจักษ์ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่ง OECD สนับสนุนให้ประเทศผู้ให้ต่าง ๆ ให้ความช่วยเหลือที่เกณฑ์ร้อยละ ๐.๗ ของ GNI
จากข้อมูล ODA ปัจจุบันในฐานข้อมูลของ OECD พบว่า ประเทศไทยเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศ แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มิติด้านการรับของไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัดและทวีบทบาทการเป็นผู้ให้มากขึ้น โดย
การรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศของไทย ประเทศไทยรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการจากแหล่งความร่วมมือต่างประเทศต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี ๒๔๘๙ จุดมุ่งหมายหลักเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งในรูปโครงการ ผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ โดยแหล่งความร่วมมือที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหประชาชาติ แคนาดา สหภาพยุโรป องค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ เป็นต้น จนกระทั่งในช่วงปลายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๖ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีการขยายตัวในอัตราที่สูงและขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยร้อยละ ๑๐.๕ ต่อปี ในขณะเดียวกันโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยได้ปรับตัวนลักษณะเปิดกว้างเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจนานาชาติมากขึ้น ซึ่งถือได้ว่า ระดับการพัฒนาของประเทศไทยได้มีการพัฒนาขึ้นสู่อีกระดับหนึ่ง (Graduate) เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ด้วยกัน ทำให้นโยบายของแหล่งผู้ให้บางประเทศได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการให้ความร่วมมือกับประเทศไทย เป็นลักษณะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนามากขึ้น
ในปัจจุบันประเทศไทยยังคงรับความช่วยเหลือทางวิชาการจากประเทศ/องค์การระหว่างประเทศ ที่มีความเป็นเลิศในสาขาที่มีความจำเป็นต่อการประเทศไทย โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นหลัก โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในสาขาต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และเสริมสร้างขีดความสามารถในสาขาต่าง ๆ ของประเทศ ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นหรือสามารถบรรลุพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้กรอบความตกลงความร่วมมือทางวิชาการที่มีอยู่ โดยเฉพาะจาก ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี จีน เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และประเทศที่สำคัญอื่น ๆ
สำหรับสถานะการเป็นผู้ให้นั้น ประเทศไทยมีฐานะเป็นผู้ให้ตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ แต่ความร่วมมือในระยะแรกยังมีไม่มากนัก จำกัดเฉพาะการจัดหลักสูตรศึกษาฝึกอบรมดูงานให้แก่ผู้รับทุนขององค์การระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศกำลังพัฒนา จนกระทั่งปี ๒๕๓๔ รัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะสืบต่อนโยบายการเปลี่ยนแปลงภูมิภาคอินโดจีน จากสนามรบเป็นสนามการค้าที่ได้ริเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ โดยการเพิ่มงบประมาณการให้ความร่วมมือทางวิชาการแก่ต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านจากเดมิ ๒๕ ล้านบาท ในปี ๒๕๓๔ เป็น ๑๗๕ ล้านบาท ในปี ๒๕๓๕ และ ๒๐๓ ล้านบาท ในปี ๒๕๓๖ ตามลำดับ และรูปแบบการให้ความช่วยเหลือของประเทศไทยก็เริ่มเป็นการให้ในลักษณะโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
การที่ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศและสั่งสมประสบการณ์การใช้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาประเทศมากว่า ๔๐ ปี เป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ประเทศไทยแสดงบทบาทในการให้ความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกที่สำคัญเป็นปัจจัยให้ประเทศไทยได้แสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับประเทศไทยต้องยึดมั่นปฏิบัติตามพันธกิจที่ต้องดำเนินการตามข้อผูกพันระหว่างประเทศตามวาระโลก (Global Agenda) ประเด็นที่ประชาคมนานาชาติกำหนด (Global Issues) และนโยบายของรัฐบาลด้านการต่างประเทศมุ่งเน้นความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ จึงทำให้การให้เป็นภารกิจสำคัญหนึ่งที่เสดงให้เห็นถึงศักยภาพของไทยในด้านต่าง ๆ ที่หลายประเทศให้การยอมรับ จะเห็นได้จากการดำเนินงานความร่วมมิอเป็นเวลาหลายทศวรรษ ในหลากหลายรูปเเบบเเละสาขา ในอนุภูมิภาคเเละภูมิภาคต่าง ๆ เช่น กลุ่มประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มประเทศในเอเซียตะวันออกเเละเเปซิฟิก กลุ่มประเทศในเอเซียใต้ กรอบความร่วมมือ เช่น ACMECS GMS ประเทศในกลุ่ม CIS เเละยุโรปตะวันออก ละตินอเมริกา เเละเเคริบเบียน รวมถึงเเอฟริกา
อย่างไรก็ตาม การให้ความช่วยเหลือกับต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน ทุก ๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา เอกชน และภาคประชาสังคม สามารถดำเนินงานให้ความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ และเมื่อดำเนินการแล้วให้แจ้งข้อมูลให้กรมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อรวบรวมรายงานต่อ OECD
ในด้านเงินกู้ผ่อนปรน (Soft Loan) นั้น สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) มีบทบาทรับผิดชอบความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในส่วนของความช่วยเหลือทางการเงิน NEDA เน้นใน ๔ สาขา ได้แก่ สาขาการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคม ด้านพลังงาน การพัฒนาเมือง และการพัฒนาบุคลากร ใน ๗ ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา ภูฏาน ศรีลังกา และติมอร์-เลสเต