"มันสำปะหลัง” ความหวังของเกษตรกรกัมพูชา

"มันสำปะหลัง” ความหวังของเกษตรกรกัมพูชา

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 เม.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,417 view

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับกรมวิชาการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการ Development of Training Programme on Cassava in Border Provinces (Farm and Soil Management) ภายใต้แผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย - กัมพูชา ระยะ ๓ ปี ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๔ สาขาการเกษตร (ขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)) ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดน ไทย - กัมพูชา คือ จ. พระตะบอง จ. ไพลิน และ จ. บันเตียเมียนเจย โดยมีพื้นที่ติดกับ จ. สระแก้ว และ จ. จันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญของทั้งสองประเทศ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกรชาวกัมพูชา ให้สามารถผลิตมันสำปะหลังที่มีคุณภาพได้อย่างยั่งยืนและลดต้นทุนการผลิตได้ โดยผ่านการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้แก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกร การจัดทำแปลงสาธิตเทคโนโลยีและการจัดงานวันสาธิต ซึ่งได้รับความสนใจเป็นจากเกษตรกรชาวกัมพูชาเป็นอย่างมาก

เนื่องจากแหล่งเพาะปลูกมันสำปะหลังทั้งสองประเทศมีชายแดนติดกัน ย่อมประสบปัญหาการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืชและโรคพืช เป็นผลให้คุณภาพมันสำปะหลังและปริมาณการผลิตลดลง ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงก่อให้เกิดการดำเนินโครงการดังกล่าวขึ้น โดยมีการดำเนินกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ประกอบด้วย การจัดฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานเกษตรและเกษตรกรกัมพูชา ทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา การจัดตั้งแปลงสาธิตเพาะปลูกมันสำปะหลังในกัมพูชา ซึ่งจังหวัดละ ๒ แปลง รวม ๖ แปลง รวมถึงกิจกรรมล่าสุด ได้จัดทำ “คู่มือการปลูกมันสำปะหลัง” คู่มือเล่มเล็กที่เปี่ยมไปด้วย    องค์ความรู้เรื่องมันสำปะหลัง จำนวน 2,000 เล่ม และในระหว่างวันที่ ๒๕ - ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๔ ได้จัดส่งคู่มือดังกล่าวไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ของกัมพูชา อาทิ หน่วยงานราชการเกษตรจังหวัด สถาบันการศึกษา และกลุ่มชุมชนเกษตรกรผู้เพาะปลูกมันสำปะหลังใน จ. พระตะบอง จ. ไพลิน และ จ. บันเตียเมียนเจย

ทั้งนี้ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศและกรมวิชาการเกษตร จะจัดการประชุม wrap - up ในรูปแบบ video conference ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกัมพูชา เพื่อแจ้งการสิ้นสุดการดำเนินงานตามระยะเวลาของโครงการ และรับฟังข้อคิดเห็นของทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับผลการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมา ในช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

การส่งมอบคู่มือ_จำนวน_๒_๐๐๐_เล่ม_ในพื้นที่เป้าหมาย_๑๐_สถานที่.pdf