วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ม.ค. 2567
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 ม.ค. 2567
เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 นางอรุณี ไฮม์ม รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้ร่วมกล่าวในพิธีเปิดการประชุมเปิดตัวโครงการห้องปฏิบัติการวิจัยนานาชาติ International Research Laboratory “Health, Disease Ecology, Environment and Policy” (IRL - HealthDEEP) ณ ศูนย์วิจัยโรคเขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้ผู้แทนภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ นักวิชาการ และนักวิจัย ร่วมหารือแนวทางการดำเนินโครงการห้องปฏิบัติการวิจัยนานาชาติ IRL-HealthDEEP ที่ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และ The French National Center for Scientific Research (CNRS) เพื่อร่วมมือกันวิจัยด้านสุขภาพ โรคทางนิเวศวิทยา สิ่งแวดล้อม รวมถึงกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ โรคติดต่อของสัตว์ และความเชื่อมโยงกับสุขภาพของมนุษย์
การก่อตั้ง IRL-HealthDEEP เป็นการต่อยอดความสำเร็จจากการดำเนินโครงการ Innovative Animal Health ระหว่างปี 2563 – 2568 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานดำเนินโครงการฝ่ายไทย โดยภายหลังจากนี้ผู้เชี่ยวชาญของ IRL-HealthDEEP และ Innovative Animal Health จะปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อพัฒนาผลงานวิจัย และยกระดับการหารือด้านนโยบายในประเด็นสาธารณสุขระดับโลก (Global Health) สุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) และสุขภาพของพิภพโลก (Planetary Health) ด้วยแนวทางแบบสหวิชาชีพ ท่ามกลางบริบททางสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพที่เชื่อมโยงกันอย่างมากในปัจจุบัน
ในคำกล่าวช่วงพิธีเปิดการประชุม รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้เน้นย้ำวิสัยทัศน์ของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ใน 4 ด้าน ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร อาชีพ สุขภาพ และพลังงานและสิ่งแวดล้อม พร้อมแบ่งปันการดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาด้านสาธารณสุขของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งในระดับทวิภาคีและไตรภาคี อาทิ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การอนามัยแม่และเด็ก การค้นหา รักษา ควบคุมและป้องกันวัณโรค เป็นต้น ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศในการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการดำเนินงานความร่วมมือหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาทั้งในระดับทวิภาคีและไตรภาคี เพื่อส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมความร่วมมือฯ ได้ย้ำความพร้อมที่จะเป็นสะพานเชื่อมและสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการนำผลงานวิจัยและวิชาการมาสู่การพัฒนานโยบายและการปฏิบัติได้จริงด้วย
รูปภาพประกอบ