รองอธิบดี TICA ร่วมเป็นประธานในพิธีปิด “การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพด้านกีฏวิทยาและการสอบสวนแหล่งแพร่เชื้อไข้มาลาเรียสำหรับผู้ปฏิบัติงาน สปป.ลาว ”

รองอธิบดี TICA ร่วมเป็นประธานในพิธีปิด “การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพด้านกีฏวิทยาและการสอบสวนแหล่งแพร่เชื้อไข้มาลาเรียสำหรับผู้ปฏิบัติงาน สปป.ลาว ”

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 เม.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 เม.ย. 2566

| 549 view

      เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 นายวัฒนวิทย์ คชเสนี รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ พร้อมด้วย นาย Steven G. Olive ผู้อำนวยการองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา สำนักงานภาคพื้นเอเชีย (United States Agency for International Development, Regional Development Mission for Asia - USAID/RDMA) และ นพ. อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ร่วมเป็นประธาน ในพิธีปิด “การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพด้านกีฏวิทยาและการสอบสวนแหล่งแพร่เชื้อไข้มาลาเรียสำหรับผู้ปฏิบัติงาน สปป.ลาว ” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 31 มีนาคม 2566 ที่โรงแรม Grand Centre Point Ploenchit ซึ่งการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมแรกที่ดำเนินการภายใต้แผน TICA – USAID Strategic Partnership โดยมีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานดำเนินงาน ซึ่งมีผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุขของ สปป.ลาว จำนวน ๑๕ คน และเจ้าหน้าที่ไทยจากกระทรวงสาธารณสุขจำนวน ๖ คน เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้

       การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ดังกล่าวแบ่งออกเป็น ๒ ช่วง ได้แก่ การอบรมเชิงทฤษฏีเป็นระยะเวลา ๑ สัปดาห์ ที่กรุงเทพ และการอบรมเชิงปฏิบัติการที่ จ.ตาก และ จ.พิษณุโลก เป็นระยะเวลา ๑ สัปดาห์ ซึ่งครอบคลุมหัวข้อที่หลากหลาย อาทิ การสุ่มสำรวจลูกน้ำยุงในพื้นที่ การค้นหาแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และการกำจัดแหล่งที่ถูกวิธี เป็นต้น นอกจากนี้ ภายหลังพิธีปิดดังกล่าว ผู้จัดอบรมได้นำคณะของทั้ง 3 หน่วยงานเยี่ยมชมการแสดงอุปกรณ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และกระทรวงสาธารณสุขเพื่อช่วยในการป้องกันและสอบสวนแหล่งแพร่เชื้อไข้มาลาเรียในบริเวณชายแดนของไทยและประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวเป็นการดำเนินงานในลักษณะไตรภาคีระหว่างไทย - สหรัฐฯ ในดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศที่ ๓ ซึ่งมุ่งเน้นการถ่ายทอดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของไทยแก่ สปป.ลาว และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อกำจัดโรคไข้มาลาเรีย (Malaria Elimination) ให้หมดสิ้นภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) รวมถึงเป้าหมายที่ 3 คือ การสร้างหลักประกันการมีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ