รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเข้าร่วม การประชุม Development Leaders Conference 2024 ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๗ ณ เมืองบาหลี อินโดนีเซีย

รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเข้าร่วม การประชุม Development Leaders Conference 2024 ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๗ ณ เมืองบาหลี อินโดนีเซีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 มิ.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 มิ.ย. 2567

| 274 view

เมื่อวันที่ ๑๒ - ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๗ นางอรุณี ไฮม์ม รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเข้าร่วมการประชุม Development Leaders Conference 2024 ภายใต้หัวข้อ “Towards Shared Prosperity: Collaborative Solutions for Global Development” จัดโดยศูนย์เพื่อการพัฒนาระดับโลก (Center for Global Development: CGD) กระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของนอร์เวย์ (Norwegian Agency for Development Cooperation: Norad) โดยมีเจ้าหน้าที่กรมความร่วมมือฯ เข้าร่วมด้วย ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

การประชุมดังกล่าว H.E. Mr. Pahala Nugraha Mansury รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งอินโดนีเซียได้เข้าร่วมกล่าว Welcoming Address โดยเน้นความสำคัญของความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศผู้ให้รายเดิม (Traditional Donors) และ ประเทศผู้ให้รายใหม่ (Emerging Donors) ในการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเพื่อสนับสนุนกลุ่มเปราะบางที่สุด รวมทั้งส่งเสริมการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ (Economic Transformation) อาทิ การสนับสนุนทางการเงิน การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

ในโอกาสนี้ รองอธิบดีกรมความร่วมมือฯ ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและความเห็นใน Session ที่ ๑ ภายใต้หัวข้อ “The Evolution Development Landscape: Development at a Crossroads” โดยได้แลกเปลี่ยนความเห็นใน ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่ (๑) รูปแบบการดำเนินงานความร่วมมือฯ ที่มุ่งเน้นการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนามากขึ้น (Development Partnerships rather than Development Assistance) เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของ (Ownership) ให้กับประเทศผู้รับมากขึ้น (๒) การมีหน่วยงานที่รวบรวมสถิติข้อมูล และความสำเร็จของการดำเนินงานความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคี เพราะข้อมูลเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินใจของผู้นำ แต่ปัจจุบัน OECD ซึ่งเป็นแหล่งจัดทำข้อมูลการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ ได้มีการจัดทำข้อมูลความร่วมมือใต้-ใต้เพียงบางส่วนเท่านั้น จึงยังไม่มีหน่วยงานหลักจัดเก็บสถิติข้อมูลดังกล่าว และ (๓) การผลักดันให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในความร่วมมือเพื่อการพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะในสาขาของการที่ต้องมีการลงทุนสูง อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Transformation) และพลังงานและดิจิทัล(Energy and Digitalization)

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นเวทีระหว่างประเทศที่สำคัญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานที่ดำเนินงานความร่วมมือ องค์การระหว่างประเทศ และ Think Tanks ต่าง ๆ อาทิ APC-Colombia, Indonesian AID, JICA, KOICA, TIKA และ USAID โดยมีผู้แทนระดับสูงและเจ้าหน้าที่มากกว่า ๘๐ คนจากหลากหลายประเทศทั่วโลกเข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและความเห็นเกี่ยวกับข้อท้าทายที่มีร่วมกันอย่างเสรีและตรงไปตรงมาภายใต้กฎชัทแธมเฮาส์ (Chatham House Rule) เพื่อค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาข้อท้าทายต่าง ๆ และแสวงหาโอกาสในการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับโลกร่วมกันในอนาคตต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ