รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเข้าร่วมการประชุม 2023 Development Cooperation Forum ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเข้าร่วมการประชุม 2023 Development Cooperation Forum ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 มี.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 มี.ค. 2566

| 464 view
นางอรุณี ไฮม์ม รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนอธิบดี เข้าร่วมการประชุม 2023 Development Cooperation Forum (DCF) ระหว่างวันที่ ๑๔- ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๖ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ จัดโดยสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคม (Department of Economic and Social Affairs - DESA) สหประชาชาติ
โดย DCF เป็นเวทีที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ได้รับเชิญมาหารือเพื่อกำหนดทิศทางความร่วมมือเพื่อการพัฒนาร่วมกัน โดยในปีนี้ ที่ประชุมเน้นการให้ความสำคัญในมิติของมนุษย์ในความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และบทบาทของความร่วมมือเพื่อการพัฒนาต่อการช่วยแก้ไขปัญหาที่เป็นวาระโลก เข่น การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การคุ้มครองทางสังคม เป็นต้น
รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้เข้าร่วมอภิปรายในหัวข้อ “การสร้างพลวัตรสำหรับมาตรการการคุ้มครองทางสังคมที่มีประสิทธิภาพ” (Building momentum for effective social protection measures) ตามคำเชิญของประธานคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ผู้เข้าร่วมอภิปรายประกอบด้วย ประธานบริหารกองทุนประกันสังคมคอสตาริกา ผู้แทนพิเศษประจำสหประชาชาติและผู้อำนวยการสำนักงานองค์การแรงงานระหว่างประเทศประจำสหประชาชาติ รัฐมนตรีแรงงานและประกันสังคมมอลโดวา รัฐมนตรีการปกป้องสตรี ครอบครัวและเด็กเซเนกัล ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศอุรุกวัย ผู้แทนถาวรชิลีประจำสหประชาชาติและรองประธานคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรสเปนประจำสหประชาชาติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฟิลิปปินส์
รองอธิบดีฯ ได้นำเสนอนโยบายของไทยที่กำหนดให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบันที่มนุษยชาติเผชิญหน้ากับความท้าทาย เช่น โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ประเทศไทยจึงได้กำหนดนโยบายความมั่นคงใน ๔ ด้าน ที่มีความสำคัญต่อการดำเนินงานด้านการพัฒนา ได้แก่ ๑) ความมั่นคงทางอาหาร ๒) ความมั่นคงด้านอาชีพการงาน ๓) ความมั่นคงด้านสาธารณสุข และ ๔) ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน โดยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นการใช้องค์ความรู้ท้องถิ่นเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืน มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ รองอธิบดีฯ ได้ยกตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ได้แก่ ความร่วมมือด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage - UHC) ที่ไทยให้ความร่วมมือแก่เคนยา ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 การพัฒนาฝีมือแรงงานตามแนวชายแดน รวมถึงเชิญชวนคู่ร่วมมือต่าง ๆ ในการดำเนินงานความร่วมมือร่วมกับไทย ทั้งในรูปแบบความร่วมมือใต้-ใต้ เหนือ-ใต้-ใต้ และความร่วมมือแบบใต้-ใต้-ใต้

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ