ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืน ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่โรงเรียนเทคนิค –วิชาชีพแบบผสม แขวงเซกอง สปป. ลาว ศูนย์เรียนรู้แห่งที่ ๓ ของความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย – ลาว ในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปี ความสัมพันธ์ไทย – ลาว

ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืน ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่โรงเรียนเทคนิค –วิชาชีพแบบผสม แขวงเซกอง สปป. ลาว ศูนย์เรียนรู้แห่งที่ ๓ ของความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย – ลาว ในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปี ความสัมพันธ์ไทย – ลาว

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ส.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 996 view

วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๔  นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และ นายสายคำ พันทะวง รองอธิบดีกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป.ลาว เป็นประธานร่วมในการประชุมปิดโครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืน ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่โรงเรียนเทคนิค – วิชาชีพแบบผสม แขวงเซกอง สปป. ลาว โดยมี นายไตรรงค์ คลังบุญครอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี  ผู้แทนกรมเอเชียตะวันออก สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต กรมอาชีวศึกษา และโรงเรียนเทคนิค-วิชาชีพแบบผสม แขวงเซกอง เข้าร่วมด้วย

ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืน ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่รัฐบาลไทยได้มีความร่วมมือกับรัฐบาล สปป.ลาว มีจำนวน ๖ แห่ง โดยแห่งแรกอยู่ที่วิทยาลัยกสิกรรมดงคำช้าง นครหลวงเวียงจันทน์ เป็นแห่งแรก ซึ่งได้ส่งมอบไปแล้วเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๖๐ แห่งที่สองอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิค-วิชาชีพแขวงคำม่วน ได้มีการส่งมอบไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ แห่งที่ ๓ คือ ที่โรงเรียนเทคนิค-วิชาชีพแบบผสม แขวงเซกอง  ซึ่งมีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี เป็นหน่วยงานดำเนินงานฝ่ายไทย นอกจากนี้ ได้มีการขยายผลไปยังโรงเรียนเทคนิค อีก ๓ แขวง ใน สปป.ลาว คือ แขวงบ่อแก้ว  แขวงไซยะบุลี และแขวงอัดตะปือ

S__62857845

การดำเนินจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ ใน ๖ แขวง ของ สปป.ลาว นอกจากจะเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและลาวแล้ว  ยังทำให้ สปป.ลาว สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustianable Development Goals : SDGs ในเป้าหมายที่ ๑ การลดความยากจน โดยเริ่มจากการลดความยากจนในระดับฐานราก (Grassroots Level) ผ่านการสร้างองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรม  เป้าหมายที่ ๒ การขจัดความหิวโหย โดยการสร้างความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือนและชุมชน ด้านเกษตรสะอาดและผสมผสานแบบยั่งยืน  และเป้าหมายที่ ๔ การศึกษาที่ดี ที่เสริมสร้างองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้จริงผ่านกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพชุมชน และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาวบ้านและบุคลากรท้องถิ่น  สำหรับประเทศไทยนั้น เป็นการบรรลุเป้าหมายที่ ๑๗ เป็นการเสริมสร้างสถานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของไทย ผ่านการดำเนินความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อการพัฒนาให้เป็นไปตามเป้าหมายในการเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และยังเป็นการป้องกันปัญหาสังคมต่าง ๆ   ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของไทย เช่น ปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน ปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ  โดยการสร้างอาชีพให้แก่ประชาชน เพื่อบรรเทาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนใน สปป. ลาว

สำหรับการส่งมอบศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ จะเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการส่งมอบในโอกาสการเฉลิมฉลองครบรอบ ๗๐ ปี ของความสัมพันธ์ไทย-ลาว ทั้งนี้ TICAจะได้นำภาพกิจกรรมมานำเสนอในโอกาสต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ