เตรียมการส่งมอบโครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืน ตามแนวทางหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่วิทยาลัยเทคนิค-วิชาชีพ แขวงคำม่วน ในโอกาสการเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ลาว

เตรียมการส่งมอบโครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืน ตามแนวทางหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่วิทยาลัยเทคนิค-วิชาชีพ แขวงคำม่วน ในโอกาสการเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ลาว

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ธ.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 1,017 view

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 กรมความร่วมมือระหว่างประเทศและกรมอาชีวศึกษา สปป.ลาว ได้ร่วมกันจัดการประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืน ตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่วิทยาลัยเทคนิค-วิชาชีพ แขวงคำม่วน ครั้งที่ 2 เพื่อเป็นการประชุมปิดโครงการ เพื่อเตรียมการส่งมอบในโอกาสการเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ลาว ให้แก่รัฐบาล สปป. ลาว โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ จะส่งมอบในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ต่อไป

โครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืน ตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่วิทยาลัยเทคนิค-วิชาชีพ แขวงคำม่วน ระยะเวลาดำเนินงานโครงการ 3 ปี ระหว่างปี 2561 - 2563 โดยได้มีการเปิดศูนย์เรียนรู้ฯ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 โดยมี รศ. ดร. กองสี แสงมะนี รองรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา และนายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ เอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ (ในขณะนั้น) เป็นประธานร่วมในพิธีเปิด

แผนการดำเนินงานโครงการ ประกอบด้วย 4 ผลผลิต ได้แก่

          ผลผลิตที่ 1 การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ โดยการปรับปรุงโครงการพื้นฐาน ทั้งระบบไฟฟ้า ระบบกักเก็บน้ำ รวมทั้งการปรับปรุงและก่อสร้างฐานการเรียนรู้ จำนวน 16 ฐาน เช่น ฐานการเรียนรู้พืชสมุนไพร ฐานการขยายพันธุ์พืช ฐานปลูกมะนาวนอกฤดู ฐานการปลูกไม้ไผ่กิมซุง ฐานการปลูกผักสวนครัว ฐานการผลิตปุ๋ยอินทรีย์- น้ำส้มควันไม้ ฐานการผลิตเกษตรสะอาด ฐานการเพาะเห็ด ฐานการเลี้ยงหมูหลุมฐานการเลี้ยงไก่ไข่ ฐานการเลี้ยงปลาในกระชัง และฐานปลูกข้าวในวงบ่อ โดยฐานเรียนรู้ต่างๆ เป็นไปตามรายวิชาที่วิทยาลัยเปิดการเรียนการสอน

          ผลผลิตที่ 2 การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านเกษตรสะอาดและผสมผสาน เพื่อเป็นต้นแบบที่ยั่งยืน โดยการจัดศึกษาดูงานด้านการบริหารและจัดตั้งศูนย์เรียนรู้สำหรับผู้บริหารและอาจารย์ประจำฐานการเรียนรู้ ณ ประเทศไทย จำนวน 2 หลักสูตร รวม 23 ทุน การฝึกอบรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่บุคลากรของศูนย์เรียนรู้ฯ จำนวน 6 หลักสูตร รวม 244 ทุน

          ผลผลิตที่ 3 การพัฒนาวิทยาลัยฯ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนด้านเกษตรสะอาดและผสมผสาน แบบยั่งยืนที่มีความพร้อมสำหรับการให้บริการวิชาชีพการฝึกอบรม การศึกษาดูงาน โดยการอบรมให้บริการวิชาชีพแก่โรงเรียนเครือข่ายและชุมชน 6 ครั้ง ๆ ละ 30 คน รวม 180 คน การฝึกอบรมการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ด้านการเกษตร 6 ครั้ง ครั้งละ 30 คน รวม 180 คน การจัดแสดงผลผลิตศูนย์เรียนรู้ฯ 2 ครั้ง ณ วิทยาลัยเทคนิค – วิชาชีพ แขวงคำม่วน สปป. ลาว รวมทั้งการจัดทำเอกสารเผยแพร่ศูนย์การเรียนรู้ฯ เพื่อการประชาสัมพันธ์

          ผลผลิตที่ 4 การบริหาร การติดตาม และประเมินผลโครงการ โดยการ จัดการประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการฯ จำนวน 2 ครั้ง และการติดตามผลการดำเนินงานของคณะผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 15 ครั้ง

โดยที่โครงนี้เป็นโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนา เพื่อความมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการ วิทยาาลัยเทคนิค-วิชาชีพแขวงคำม่วนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนในลักษณะ in kind เช่น การสนับสนุนวัสดุทางการเกษตรบางรายการ การสนับสนุนแรงงานนักศึกษาบุคลากรทำถนนภายในศูนย์เรียนรู้ฯ /การสร้างฐานการเรียนรู้ รวมทั้งการจัดทำส่วนขยายเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่รัฐบาลไทยสนับสนุน ได้แก่ การจัดทำถนนทางเข้าศูนย์เรียนรู้ฯ การจัดทำรั้วบริเวณด้านหลังศูนย์เรียนรู้ฯ

จากผลสำเร็จของโครงการส่งผลให้ฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอนในการฝึกปฏิบัติเสมือนห้องปฏิบัติการที่มีชีวิตของนักศึกษา และวิทยาลัยเทคนิค – วิชาชีพ แขวงคำม่วน ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน/วิทยาลัยเครือข่าย และชุมชนในละแวกใกล้เคียงของแขวงคำม่วนด้านเกษตรสะอาดได้ผลผลิตปลอดภัย ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล สปป. ลาว ที่ต้องการให้แขวงคำม่วนเป็นแหล่งผลิตอาหารใน สปป.ลาว

นอกจากนี้ โครงการนี้ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ สปป.ลาว บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals :SDGs) เป้าหมายที่ 4 Quality Education ความเท่าเทียมในด้านการศึกษา และเป้าหมายที่ 8 Decent Work and Economic Growth ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องครอบคลุมและยั่งยืนการจ้างงานที่มีคุณค่า และยังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเสริมสร้างสถานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของไทยผ่านการดำเนินความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อการพัฒนา หรือ SDGs เป้าหมายที่ 17 Partnership for all

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ