อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ให้ การต้อนรับ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาลประจำประเทศไทย ในโอกาสที่มาเข้าพบเพื่อแสดงความยินดีต่อการเข้ารับตำแหน่งของอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ

อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ให้ การต้อนรับ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาลประจำประเทศไทย ในโอกาสที่มาเข้าพบเพื่อแสดงความยินดีต่อการเข้ารับตำแหน่งของอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 728 view

เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ให้  การต้อนรับนายคเณศ ประสาท ธกาล (Mr. Ganesh Prasad Dhakal) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาลประจำประเทศไทย ในโอกาสที่มาเข้าพบเพื่อแสดงความยินดีต่อการเข้ารับตำแหน่งของอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมีนาง Pratigya Rai เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาลประจำประเทศไทย และเจ้าหน้าที่กองส่งเสริมและประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเข้าร่วมด้วย ณ ห้องรับรอง กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ

นายคเณศ ประสาท ธกาล แสดงความชื่นชมต่อความสัมพันธ์อันดีที่มีมายาวนานระหว่างสองฝ่าย และขอบคุณกรมความร่วมมือฯ ที่ให้การสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการทั้งในรูปของการพัฒนาขีดความสามารถและโครงการพัฒนาให้แก่เนปาลมาโดยตลอด โดยคาดหวังที่จะผลักดันให้เกิดโครงการเผยแพร่และประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) ในเนปาล เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน เนื่องจากเนปาลมีแนวคิดด้านการพัฒนาที่คล้ายคลึงกัน และยังสอดคล้องกับนโยบายแห่งชาติ “Prosperous Nepal” ของเนปาล ที่ส่งเสริมให้ทุกหมู่บ้านมีผลผลิตเพื่อใช้บริโภคเองได้ภายในชุมชน โดยจะติดตามฝ่ายเนปาลให้จัดส่งรายละเอียดคำขอโครงการมาให้ฝ่ายไทยพิจารณาโดยเร็ว นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ยังแสดงความสนใจที่จะรับการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ และเทคโนโลยีจากไทยในการพัฒนากระบวนการผลิต แปรรูป และส่งออก ชาและกาแฟ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของเนปาล 

อธิบดีกรมความร่วมมือฯ ยืนยันและยินดีที่จะสานต่อการให้ความร่วมมือทางวิชาการแก่เนปาล รวมทั้งการเผยแพร่ SEP ทั้งที่เป็นโครงการ และการจัดศึกษาดูงานในประเทศไทยให้แก่ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งเนปาล หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 คลี่คลาย และเชิญชวนให้ฝ่ายเนปาลส่งบุคลากรสมัครรับทุนเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มากยิ่งขึ้น จากการที่กรมความร่วมมือระหว่างประเทศจะเสนอทุนฝึกอบรม Annual International Training Course (AITC) และทุนศึกษา Thailand International Postgraduate Programme (TIPP) เป็นประจำทุกปี ใน ๕ สาขาหลัก ได้แก่ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ความมั่นคงด้านอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาธารณสุข และสาขาที่เกี่ยวข้องกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

ในระดับภูมิภาค ในฐานะที่ประเทศไทยจะเป็นประธานกรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) อธิบดีกรมความร่วมมือฯ ได้เสนอการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้กับประเทศสมาชิกในเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญในปัจจุบัน อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบ องค์รวม ๓ มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือ BCG Economy Model

สำหรับการฟิ้นฟูภายหลังการแพร่รระบาดของโรค COVID-19 อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้แจ้งนโยบายการให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทยเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการพัฒนาประเทศภายหลังสถานการณ์ฯ คลี่คลาย โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงและภูมิคุ้มกันใน ๔ ด้านที่เป็นจุดแข็งของไทย ได้แก่ ความมั่นคงด้านสาธารณสุข ความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงด้านอาชีพ และความมั่นคงด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ผนวกกับการพัฒนาโดยใช้ BCG Economy Model ด้วย ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า   ความร่วมมือภายใต้นโยบายและหลักการดังกล่าวของไทยอาจตอบสนองความต้องการในการพัฒนาของเนปาลต่อไปได้

ทั้งสองฝ่ายยังได้มุ่งหวังถึงผลสำเร็จที่น่าจะเกิดขึ้นในการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ระหว่างไทยและเนปาล รวมทั้งความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission – JC) ครั้งที่ ๕ ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศระหว่างไทยกับเนปาล ที่คาดว่าจะจัดขึ้นภายในปลายเดือนสิงหาคม ๒๕๖๔ นี้

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ