วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ก.ย. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 ก.ย. 2566
เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๖ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกล่าวเปิด “หลักสูตรฝึกอบรมการเพิ่มมูลค่าและการใช้ขยะมูลฝอยในห่วงโซ่การผลิตจากการเลี้ยงปลานิล ผ่านประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่ดีของประเทศไทย” ผ่านระบบออนไลน์ ร่วมกับ นาง Ana María Prieto เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโคลอมเบียประจำประเทศไทย นาย Álvaro Calderón ผู้อำนวยการกองความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศโคลอมเบีย นาย Daniel Rodríguez ผู้อำนวยการกองความร่วมมือใต้ - ใต้ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศโคลอมเบีย และ ผศ.ดร. เมธี แก้วเนิน รองคณะบดีฝ่ายบริหาร คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“หลักสูตรฝึกอบรมการเพิ่มมูลค่าและการใช้ขยะมูลฝอยในห่วงโซ่การผลิตจากการเลี้ยงปลานิลผ่านประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่ดีของประเทศไทย" นับเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ Exchange of Expert on Mutual Interest for the Benefit of Both Sides on Fishery ตามแผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างไทย - โคลอมเบีย ระยะ ๓ ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) แลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดีในการเลี้ยงปลานิลของประเทศไทยให้กับฝ่ายโคลอมเบีย (๒) พัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องการจัดการขยะและของเสียจากการผลิตและเพาะพันธุ์ปลานิล รวมทั้งการเพาะเลี้ยงปลานิลร่วมกับการเพาะเลี้ยงกุ้ง และ (๓) การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เลี้ยงปลาของทั้งสองประเทศ
การฝึกอบรมครั้งนี้ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดหลักสูตรฝึกอบรมดังกล่าวในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ ๔ กันยายน - ๓ ตุลาคม ๒๕๖๖ ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านปลานิลทั้งในเชิงเทคนิคและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่จะสามารถประยุกต์และปรับใช้กับการเพาะเลี้ยงปลานิลของทั้งสองประเทศให้พัฒนาต่อไป นอกจากนี้การจัดฝึกอบรมดังกล่าวยังได้ช่วยส่งเสริมแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ของประเทศไทยให้แก่ฝ่ายโคลอมเบีย โดยเฉพาะเรื่องการเพิ่มมูลค่าและการใช้ขยะมูลฝอยในห่วงโซ่การผลิตจากการเลี้ยงปลานิล รวมทั้งเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย – โคลอมเบีย ผ่านความร่วมมือทางวิชาการ และส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ (SDGs) ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะ (ข้อ ๒) ยุติความหิวโหยและบรรลุความมั่นคงทางอาหาร (ข้อ ๑๒) การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และ (ข้อ ๑๗) ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วน (Partnerships) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย
รูปภาพประกอบ