วันที่นำเข้าข้อมูล 10 พ.ย. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 พ.ย. 2566
เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้เข้าร่วม การประชุม The Seventh Southeast Asia Multi-Stakeholder Forum on the Implementation of the Sustainable Development Goals จัดโดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) และศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue: ACSDSD) ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยได้รับเชิญให้เป็นผู้กล่าวในช่วงพิธีเปิดของวาระที่ ๒
ในหัวข้อ “SDG 17: Partnerships for Progress: SDG 17 and the Energy Transition towards Net-Zero Emissions”
อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศกล่าวถึงสถานการณ์ความท้าทายต่าง ๆ ของโลกที่ส่งผลต่อ
การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และความร่วมมือที่ต้องมีมากขึ้นในการบรรลุ SDGs รวมทั้งเป้าหมายของไทยในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ภายในปี ค.ศ. ๒๐๖๕ และการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทาง ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือในด้านโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG)
อธิบดีกรมความร่วมมือฯ ได้เสนอหลัก 3R เพื่อนำการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ซึ่งนอกจากจะต้องอาศัยเงินทุนแล้ว ยังต้องอาศัย (๑) การวิจัยและพัฒนา (Research and Development (R&D)) เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้และเทคโนโลยีสีเขียว (๒) หุ้นส่วนที่แข็งขัน (Reinforced Partnerships) ซึ่งกรมความร่วมมือฯ ได้ทำงานร่วมกับสหประชาชาติ, JICA, KOICA, GIZ, USAID และ AFD และดำเนินโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการ Thai Rice for Nationally Appropriate Mitigation Action (Thai Rice NAMA) ร่วมกับ GIZ, โครงการ Transboundary Air Quality Management ใน สปป. ลาว ร่วมกับ USAID รวมถึงการให้ทุนฝึกอบรมหลักสูตรนานาชาติประจำปี (Annual International Training Courses: AITC) และ (๓) ความรับผิดชอบต่อสังคม (Responsibility Mindset) ซึ่งกรมความร่วมมือฯ ได้ดำเนินกิจกรรม “ส่งขยะกำพร้ากลับบ้าน” ร่วมกับบริษัท เอ็น ๑๕ เทคโนโลยี จำกัด ทั้งนี้ ที่ประชุมต่างเห็นพ้องว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา รวมถึงการยกระดับการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนให้การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเร่งรัดการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ต่อไป
การประชุม The Seventh Southeast Asia Multi-Stakeholder Forum on the Implementation of the Sustainable Development Goals เป็นเวทีหารือระหว่างประเทศสมาชิกของเอสแคปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผลการหารือจะนำเข้าสู่การประชุม Asia-Pacific Forum on Sustainable Development ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงต้นปี ๒๕๖๗
รูปภาพประกอบ