อัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ กล่าวเปิดการประชุมปฏิบัติการ Advancing Climate Resilient Livelihoods in Thailand จัดโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับมูลนิธิ Rockefellerและมหาวิทยาลัยมหิดล

อัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ กล่าวเปิดการประชุมปฏิบัติการ Advancing Climate Resilient Livelihoods in Thailand จัดโดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับมูลนิธิ Rockefellerและมหาวิทยาลัยมหิดล

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ก.พ. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 21 ก.พ. 2567

| 397 view

เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ร่วมกับมูลนิธิ Rockefeller และมหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “Advancing Climate Resilient Livelihoods in Thailand” ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ โดย ร้อยโท สรวุฒิ ปรีดีดิลก อัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ปฏิบัติหน้าที่ที่กรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้กล่าวต้อนรับในพิธีเปิด ร่วมกับ Ms.Deepali Khanna ตำแหน่ง Vice President, Asia Regional Office มูลนิธิ Rockefeller และ รศ. ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจากทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน มากกว่า ๕๐ คน

การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้หน่วยงานไทยและทุกภาคส่วนที่มีบทบาทในด้านการจัดการและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้รับทราบนโยบายและยุทธศาสตร์ของไทยในด้านดังกล่าว รวมทั้งเป็นเวทีหารือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนบูรณาการการทำงานระหว่างกันในการส่งเสริมให้ชุมชนสามารถรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน

ในฐานะผู้แทนกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ร้อยโทสรวุฒิฯ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นปัญหาเร่งด่วนและส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชน นโยบายของรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ โดยมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy : BCG Model) ตลอดจนมุ่งบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายใน ปี ค.ศ. 2065

นอกจากการบรรยายในหัวข้อ Thailand’s Trajectory Towards Net Zero: National Plans and Policies in Tackling Climate Change แล้ว การประชุมดังกล่าวยังมีการเสวนาโดยผู้แทนจากภาครัฐ ชุมชน และองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงการแบ่งกลุ่มระดมสมองระหว่างผู้เข้าร่วมสัมมนาในช่วงบ่าย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับผลกระทบต่อด้านสาธารณสุข การเกษตร และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงด้านพลังงาน และแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยผลลัพธ์จากการประชุมเชิงปฏิบัติการฯครั้งนี้จะใช้เป็นข้อมูลเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งพัฒนาชุมชนเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ