ข้อมูลรายสาขา
ข้อมูลรายสาขา
ภาษาไทยในประเทศรอบบ้าน
“ภาษา”เป็นเครื่องมือของมนุษย์ที่ใช้สื่อความหมายให้สามารถติดต่อสื่อสาร เข้าใจกันระหว่างเพื่อนมนุษย์ ในขณะนี้คนไทยสนใจเรียนภาษาต่างประเทศหลากหลายภาษา เช่น ภาษาจีน ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น ภาษาสเปน หรือ ภาษาฝรั่งเศส คนในประเทศรอบบ้านของเราไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา แสดงความสนใจที่จะเรียนภาษาไทยกันอย่างมาก บ้างก็เรียนอย่างจริงจังในห้องเรียน บ้างก็เรียนผ่านบทเพลง ละคร หรือภาพยนตร์ ต่างๆ
กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เล็งเห็นความสนใจและประโยชน์ที่คนในประเทศเพื่อนบ้านจะเรียนรู้ เข้าใจ และนำภาษาไทยไปใช้ อีกทั้งยังเป็นโอกาสที่จะเสริมต่อการไปมาหาสู่ของประชาชนในประชาคมอาเซียนด้วย การริเริ่มโครงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาไทยในประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ รวม 7 มหาวิทยาลัย จึงเป็นกิจกรรมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ได้รับความสำคัญมากขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ดังนี้
1. ประเทศเวียดนาม ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้มีความร่วมมือเปิดสอนวิชาภาษาไทยใน 4 มหาวิทยาลัยของเวียดนาม โดยเปิดสอนแห่งแรกคือ มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ นครโฮจิมินห์ ในปี 2539 จากนั้น ในปี 2543 เปิดสอนที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม กรุงฮานอย ปี 2548 ที่มหาวิทยาลัยดานัง และปี 2552 ที่มหาวิทยาลัยฮานอย โดยเป็นการเปิดสอนภาษาไทยในระดับปริญญาตรี ยกเว้นที่มหาวิทยาลัยดานังเป็นการเปิดสอนเพียงวิชาโท
2. ประเทศเมียนมา ร่วมมือกับ 2 มหาวิทยาลัย ได้แก่
2.1 . มหาวิทยาลัยนเรศวร มีความร่วมมือในการเปิดสอนวิชาภาษาไทยในระดับปริญญาตรี ในปี 2554 ที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศย่างกุ้ง (Yangon University of Foreign Language หรือ YUFL)
2.2 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความร่วมมือในการเปิดสอนวิชาภาษาไทยในระดับปริญญาตรี ในปี 2560 ที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศมัณฑะเลย์ (Mandalay University of Foreign Language หรือ MUFL)
3. ประเทศกัมพูชา มีความร่วมมือกับ 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่
3.1 มหาวิทยาลัยบุรีรัมย์และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีความร่วมมือในการเปิดสอนภาษาไทยในระดับปริญญาตรีในปี 2554 ที่มหาวิทยาลัยพนมเปญ (Royal University of Phnom Penh)
3.2 . มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มีความร่วมมือในการเปิดสอนภาษาไทยวิชาเลือก และวิชาพื้นฐานที่มหาวิทยาลัยพระตะบอง ซึ่งในอนาคตจะเปิดสอนเป็นระดับปริญญาตรี
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นักเรียนในประเทศเหล่านี้มีความต้องการเข้าเรียนหลักสูตรภาษาไทยจำนวนมากขึ้น ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรภาษาไทย ภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาทั้ง 3 ประเทศ มีโอกาสในการเข้าทำงานและเป็นที่ต้องการของของตลาดแรงงานที่มีบริษัทเอกชนไทยไปลงทุน รวมทั้งภาคธุรกิจการบริการด้านการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน
นอกจากการสนับสนุนให้มีหลักสูตรการสอนภาษาไทยในสถาบันการศึกษาของทั้ง 3 ประเทศแล้ว กรม กรมความร่วมมือฯ พยายามขยายโอกาสการเรียนการสอนภาษาไทยในต่างประเทศมากขึ้น เช่น การส่งอาสาสมัครเพื่อนไทยไปช่วยสอนภาษาไทยในประเทศภูฏาน มัลดิฟส์ส่งตำรวจมาเรียนภาษาไทย มองโกเลียได้ส่งนักการทูตมาเรียนภาษาไทยด้วย
ในอนาคตต่อไป ภาษาไทยจะกลายเป็นมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคการผลิตของไทยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสินค้าและบริการเพื่อเพิ่มพูนความนิยมไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน