เรื่องเล่าอาสาสมัครเพื่อนไทยในภูฏานกับ COVID-19

เรื่องเล่าอาสาสมัครเพื่อนไทยในภูฏานกับ COVID-19

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 เม.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 756 view

สวัสดีค่ะ ชื่อ “จิ๊บ” นะคะ มัชฌิมาพร ส่องแสง วันนี้จะมาขอเล่าเรื่องคนไทยตัวเล็ก ๆ ที่กำลังช่วยคนภูฏานต่อสู้อยู่กับเจ้าไวรัสโควิดค่ะ

ตอนนี้จิ๊บทำงานเป็นอาสาสมัครเพื่อนไทยปฏิบัติงานอยู่ที่ประเทศเล็ก ๆ ในเทือกเขาหิมาลัย จิ๊บทำงานในตำแหน่ง Laboratory Tecnologist ที่ กรมควบคุมโรค ภายใต้กระทรวงการสาธารณสุขของภูฏานค่ะ ในตอนแรกทางหน่วยงาน Request ให้ตำแหน่งของจิ๊บทำงานในแลปไวรัส เพาะเลี้ยงไวรัสโดยการเลี้ยงในเซลล์ เพื่อส่งให้องค์การอนามัยโลกในการพัฒนาวัคซีน และช่วยทีมในการ surveillance (เฝ้าระวัง) เกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่และโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากไวรัส ซึ่งทางแลปทำโครงการนี้ภายใต้การสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก (WHO) และ US CDC ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็เป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ ที่ครั้งหนึ่งจิ๊บได้ร่วมงานกับองค์กรใหญ่ ๆ ระดับโลกทั้งสององค์กรนี้ และยังได้ร่วมงานกับ Health workers อาทิเช่น หมอ พยาบาล และ Lab Technician ทั่วประเทศค่ะ ทำให้มีเพื่อนใหม่ ๆ เยอะเลย

สองสามเดือนแรกเป็นการปรับตัวและทำความคุ้นเคยกับที่นี่ จิ๊บอยู่ที่เมืองทิมพู เมืองหลวงของภูฏาน ทุกที่เต็มไปด้วยภูเขาและต้นไม้เขียว ๆ ไม่มีตึกสูงเสียดฟ้าเหมือนบ้านเรา อากาศที่นี่เย็น ๆ สบาย ๆ นิสัยคนภูฏานก็สบาย ๆ ไปด้วย ไม่เร่งรีบอะไรมาก อีกทั้งผู้คนใจดี เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของที่นี่เลย จิ๊บทำงานวันจันทร์ถึงศุกร์ ถึงวันหยุดก็ไปปิกนิค ไปปีนเขา ไปวัดกับเพื่อน ๆ ทั้งคนไทยและคนภูฏาน ออกไปเรียนรู้ชีวิตคนท้องถิ่น หยุดยาวก็ไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อนบ้าง สนุกมาก ๆ ช่วงนั้นชีวิตดีเลยก็ว่าได้ค่ะ

ตอนนี้ก็เป็นเวลาเกือบหกเดือนแล้วที่จิ๊บปฏิบัติงานอยู่ที่นี่ ซึ่งช่วงนี้แหละค่ะเป็นจุดเปลี่ยนเลยก็ว่าได้ เพราะเจ้าไวรัสที่กำลังระบาดอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ ภูฏานก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน COVID-19 นั่นเองค่ะ จิ๊บขอเรียกสั้น ๆว่าโควิดแล้วกันนะคะ งานนี้เป็นการได้ร่วมงานใหญ่ระดับประเทศเลยแหละ เพราะจิ๊บมีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งใน National front line team ในการตรวจหาไวรัสตัวนี้ เพราะแลปที่จิ๊บทำงานอยู่ เป็นแลปหนึ่งเดียวในภูฏานที่ตรวจหาไวรัสได้ โดยใช้วิธีการสกัด RNA ของเจ้าไวรัส แล้วทำ RT-PCR (Reverse transcription polymerase chain reaction) พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ตรวจหายีนของเจ้าโควิดนั่นเอง

ช่วงต้นเดือนเดือนมกราคม 2563 ตั้งแต่ได้ยินข่าวไวรัสเริ่มแพร่ระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ทางแลปก็มีการเตรียมการภายในไว้ก่อนแล้ว เพราะรู้ว่าซักวันภูฏานอาจจะต้องมีเคสมาให้ตรวจแน่ ๆ เรามีการ consult กับทางองค์การอนามัยโลกเรื่องขอสนับสนุนสารเคมีในการตรวจ วิธีตรวจตัวอย่าง การจัดการต่าง ๆ ในแลป เราเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการ BIOSAFETY เป็นห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยสูงในการทดสอบตัวอย่างชีวภาพ เรามีการ refresh training staff ในการใช้งานเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ มีการพัฒนา Standard Operation Procedure การตรวจโควิดขึ้นมาเป็นเวอร์ชั่นของเราเอง เราทดลองตรวจตัวอย่างและ optimize reagent ตัวใหม่ที่เราได้รับ จนเราเข้าใจและสามารถใช้งานมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตอนนั้นทุกคนในทีมต้องทำการบ้านหนักมาก ๆ อ่านงานวิจัยเกี่ยวกับโควิดที่ถูกตีพิมพ์ออกมาจากจีน ศึกษาทุกอย่างให้เข้าใจ อ่านเยอะมาก ๆ เพราะต้องนำไปสื่อสารต่อให้ผู้ใหญ่ในประเทศให้เข้าใจในเชิงเทคนิคการตรวจที่เรากำลังทำงานอยู่ เราทำกันอยู่สี่ห้าคนในแลป ใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เป็นอีกประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ ทั้งเครียดทั้งเหนื่อย แต่สมาชิกทุกคนในทีมเราให้กำลังใจกัน และพูดขอบคุณกันอยู่เสมอเหนื่อยแต่ก็มีรอยยิ้มทุกวันค่ะ

ย้อนกลับไปสองสามเดือนที่แล้ว ตอนเริ่มต้นรับมือกับโควิดแรก ๆ เป็นอะไรที่ท้าทายและสนุกมากเลย จิ๊บกับสมาชิกที่แลปต้องเดินสายไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้แก่ Health worker เกี่ยวกับไวรัสตัวนี้ การใช้ PPE ป้องกันตัวเขาเอง การเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยที่ถูกต้อง และการส่งตัวอย่างเข้ามาตรวจที่แลป ในเวลาเดียวกันเครือข่ายและทีมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการรับมือกับโควิดค่อย ๆ ถูกตั้งขึ้นมากมายทั่วประเทศโดยรัฐบาล เราเริ่มมี suspected case แรกมาให้ตรวจช่วงประมาณปลายเดือนมกราคม ตอนนั้นยังไม่มีทีมที่เป็นทางการลงไปเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วย จิ๊บก็มีโอกาสได้ลงไปพบผู้ป่วยที่ต้องสงสัยว่าติดเชื้อโควิด ไปเก็บตัวอย่าง swab ในคอแล้วก็ในจมูกของเขา และสัมภาษณ์ผู้ป่วยแบบใกล้ชิด แล้วนำตัวอย่างกลับมาตรวจที่แลป จำได้ว่าตอนนั้นตื่นเต้นมากๆ ได้ลองใส่ Tyvek suit เหมือนมนุษย์อวกาศเลย

หลังจากเคสแรกผ่านไป ก็มีตัวอย่างส่งเข้ามาเรื่อย ๆ ทีมแลปไวรัสของเรามีคนน้อยมาก ถ้าเทียบกับต้องรับมือกับตัวอย่างที่มาจากทุกทิศทางทั่วประเทศ เราเลยต้องทำงานกัน 7 วันต่อสัปดาห์เลย บางวันถ้าตัวอย่างเยอะหน่อยแทบกินนอนกันที่แลปเลยก็มีค่ะ ทำอยู่อย่างนั้นเป็นเดือน ๆ จนมีอยู่วันหนึ่งทีมเล็ก ๆ ของเรา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากกษัตริย์องค์ปัจจุบันของภูฏาน ท่านทรงห่วงใยสุขภาพพวกเรา น่าจะเพราะทางเราทำงานกับตัวอย่างโดยตรง ท่านได้พระราชทานอาหารเสริมและวิตามินต่าง ๆ มาให้ เพื่อบำรุงให้ร่างกายแข็งแรง จะได้สู้กับเจ้าไวรัสตัวนี้ได้ต่อ ตอนนั้นพวกเรารู้สึกตื้นตันมาก ๆ ค่ะ ความรู้สึกตอนนั้นคือให้ทำงานวันละ 24 ชั่วโมงก็ไหวแล้ว

หลังโควิดเริ่มระบาดเป็นวงกว้างไปทั่วโลก ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็มีการคอนเฟิร์มว่ามีคนติดเชื้อในประเทศภูฏาน คนที่นี่ก็เริ่มตื่นตัวกันมากขึ้น เริ่มไปซื้อมาสก์มาใส่ เริ่มกักตุนอาหาร ช่วงแรก ๆ วุ่นวายมากเพราะประชาชนแตกตื่น แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประชาชนไว้วางใจและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ก็คือมาตรการรับมือของรัฐบาลที่นี่ และความห่วงใยประชาชนของสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวภูฏานค่ะ ท่านลงมาทำงานร่วมกับข้าราชการในกระทรวงทุกวันเลย ร่วมกับนายกรัฐมนตรี ทั้งวางแผนรับมือ และกำหนดมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ด้วย วันแรกที่ประกาศว่ามีการติดเชื้อ รัฐมีการแจก Hand sanitizer ให้ทุก ๆ คน รวมทั้งออกมาให้ความมั่นใจว่าข้าวปลาอาหารจะเพียงพอ มีการให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันตัวเองผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งเฟสบุ๊ค โทรทัศน์ และป้ายตามสถานที่สาธารณะ มีการตั้ง Flu Clinic ชั่วคราวในทุก ๆ จังหวัดทั่วประเทศ หากใครไม่สบายใจคิดว่าตัวเองติดเชื้อสามารถไปปรึกษาคุณหมอได้ฟรี ๆ คุณหมอจะช่วยตัดสินใจจากประวัติการเดินทางให้ว่าเราควรจะตรวจโควิดหรือไม่ ซึ่งคลินิคนี้ดีมาก ๆ เป็นการลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ด้วย อีกทั้งยังมีการดูแลหากใครต้องถูกกักตัวอยู่ที่บ้าน ทุกอย่างฟรีหมดเลย ทั้งค่าตรวจ ค่ารักษา สวัสดิการที่พักและอาหารขณะที่โดนกักตัว นับว่าภูฏานเป็นประเทศเล็ก ๆ ไม่ร่ำรวยมาก แต่ดูแลประชาชนได้อย่างอบอุ่นและทั่วถึง ซึ่งทำให้ประชาชนมั่นใจและรู้สึกปลอดภัยขึ้นมากๆ จิ๊บประทับใจมากๆกับการจัดการของที่นี่ และก็พลอยรู้สึกมั่นใจในแผนรับมือของที่นี่ไปด้วยค่ะ ทำให้การใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ช่วงนี้ไม่รู้สึกกลัวเลย จิ๊บแนบตัวอย่างแผนรับมือของที่นี่ไว้ให้ศึกษากันด้วยเผื่อมีใครสนใจนะคะ

ตอนนี้ภูฏานปิดประเทศแล้ว อนุญาตให้แค่ชาวภูฏานที่อยู่ต่างประเทศบินกลับเข้ามา และทุกคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศต้องถูกกักตัว 21 วันในสถานที่กักตัวที่รัฐจัดให้ ผู้ติดเชื้อโควิดในภูฏานเป็น Imported case คือติดเชื้อเพราะเดินทางมาจากต่างประเทศทั้งหมด ยังไม่มีการติดต่อภายในประเทศเลย ก็คาดหวังว่าสถานการณ์จะสงบแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ค่ะ

ตอนนี้ Front line อย่างเราก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานไปเรื่อย ๆ มีเคสเข้ามาให้ตรวจทุกวัน มากน้อยขึ้นกับสถานการณ์ของวันนั้น ๆ จิ๊บก็ดูแลสุขภาพอยู่เสมอ เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์แบบนี้จะจบลงเมื่อไหร่ ท่องกับตัวเองทุกวันเราต้องไม่ป่วย เพราะป่วยไม่ได้ เดี๋ยวไม่ได้ช่วยเพื่อนทำงาน การทำงานหามรุ่งหามค่ำตอนนี้ได้เพลาลงบ้างแล้วค่ะ เพราะทางหน่วยงานจัดหาเจ้าหน้าที่ที่มีพื้นฐานเรื่องไวรัสเข้ามาเรียนงานด้วย ก็เลยมีสมาชิกในทีมเพิ่มขึ้น แบ่งเวลาการทำงานเป็นระบบมากขึ้น แบ่งเบาความเหนื่อยล้าลงไปได้เยอะเลย อีกทั้งรัฐขยายกำลังการตรวจไปอีกสองจังหวัดที่ห่างไกล ตอนนี้กลายเป็นมีศูนย์ตรวจโควิดสามที่แล้ว และมีการนำ Rapid test kit มาช่วยสกรีนผู้ป่วยแล้ว ทุก ๆ อย่างกำลังเข้าที่เข้าทาง พร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังไงเป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะคะ

สุดท้ายนี้ จิ๊บขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ เส้นทางการมาเป็นอาสาสมัครที่นี่ของจิ๊บ อาจจะแลกมากับหลาย ๆ อย่าง จิ๊บต้องจากบ้านมาไกล ไม่ได้เจอหน้าพ่อแม่เป็นปี ด้วยวัยนี้ วัยที่มีความฝันเต็มไปหมด ต้องตัดสินใจทิ้งงานที่กำลังก้าวหน้า ทิ้งเงินเดือนหลายหมื่น พับโอกาสในการเรียนต่อไปก่อนชั่วคราว แต่จิ๊บไม่เสียดายเลยที่เลือกทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ จิ๊บอยากขอบคุณ TICA และอะไรก็ตามที่ทำให้จิ๊บตัดสินใจมาที่นี่ ได้มีโอกาสในการใช้ความรู้ความสามารถที่มีในการช่วยเหลือผู้อื่นแบบนี้ โอกาสแบบนี้คงไม่ได้มีบ่อย ๆ ในชีวิต สิ่งตอบแทนที่ได้รับในแต่ละวันคือคำขอบคุณจากเพื่อนร่วมงานและคนรอบข้าง แค่คำที่ได้ยินบ่อย ๆ “Thank you for serving our country” แค่รอยยิ้มบาง ๆ จากเพื่อน ๆ ในออฟฟิศที่เหนื่อยมาด้วยกัน แค่นั้นก็มีแรงก้าวต่อไปแล้วค่ะ เลยอยากจะบอกทุกคนว่า ลองฟังเสียงหัวใจตัวเองดูซักครั้ง ลองเดินไปตามทางที่อยากจะเดินซักครั้ง สิ่งดี ๆ อาจจะรอเราอยู่ข้างหน้ามากมาย ไม่มีคำว่าสายเกินไปค่ะ ขอแค่ลงมือทำ ไม่แน่ได้ประสบการณ์และความทรงจำดี ๆ กลับไปเต็มกระเป๋า ไปเป็นกำลังใจในการใช้ชีวิตในพาร์ทต่อๆไปของเรา มาลองเติมเต็มจิตวิญญาณหนุ่มสาวไปด้วยกันนะคะ

ขอให้ทุกคนโชคดี ดูแลตัวเองให้ปลอดภัย วันหนึ่งเราจะผ่านโควิดไปด้วยกันค่ะ

ปล.บางภาพที่มีการถ่ายในห้องปฏิบัติการที่จิ๊บแชร์ เป็นการเก็บภาพหลังการฆ่าเชื้อและไม่มีการทดสอบตัวอย่าง ณ ขณะนั้นนะคะ เป็นบางช่วงที่ทางกระทรวงมาขอเก็บภาพทำสื่อด้วย สบายใจหายห่วงค่ะ และขอบคุณ Flow chart จาก Facebook Fanpage : Ministry of Health, Royal Government of Bhutan มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ