ACD

ACD

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ส.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 8,456 view

สถานะล่าสุดของกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD)

1. ภูมิหลัง

                   แนวคิด ACD ริเริ่มเมื่อปี 2545 เพื่อเป็นเวทีหารือระดับนโยบายระหว่างประเทศในเอเชียมีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเป็นเอเชีย ตลอดจนความร่วมมือในวงกว้าง โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและศักยภาพที่หลากหลายของประเทศสมาชิกเป็นหลัก

                   ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ACD มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในมิติต่างๆ โดย ACD ได้ขยายสมาชิกภาพจาก  18 ประเทศก่อตั้ง เป็น 31 ประเทศจากทุกอนุภูมิภาคของทวีปเอเชีย[1] และมีการขยายกรอบสาขาโครงการซึ่งประเทศสมาชิกเสนอตัวเป็นผู้ขับเคลื่อน/ร่วม ขับเคลื่อน (Prime/Co-Prime Mover) ใน 20 สาขา[2]

2. ผลการประชุมรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 10 ที่ประเทศคูเวต (10-11 ต.ค. 2554)

               ที่ประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 10 ที่ประเทศคูเวต (10-11 ต.ค. 2554) ได้หารือในประเด็น “Towards a better future for Asian Cooperation”  และประเทศสมาชิกได้ให้ความเห็นชอบต่อเอกสาร Kuwait Declaration  ซึ่งมีสาระสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในเอเชียในหลายสาขา อาทิ เศรษฐกิจ การค้า การคลัง วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อการประชุมอย่างต่อเนื่องระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ เชี่ยวชาญของประเทศสมาชิก รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องบรรลุการรวมตัวทางเศรษฐกิจของ ACD เพื่อให้ได้มาซึ่งการแข่งขันที่เป็นธรรม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการพัฒนาเศรษฐกิจ

3. บทบาทและท่าทีไทย

ไทย เป็นผู้ริเริ่ม ACD และได้รับความไว้วางใจจากประเทศสมาชิกให้รับหน้าที่ ACD Coordinator  อีกทั้งยังเป็นผู้ขับเคลื่อนความร่วมมือในสาขาการท่องเที่ยว การเงินการคลัง และผู้ร่วมขับเคลื่อนสาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อีกด้านหนึ่งด้วย

นอก เหนือจากข้อตกลงตามปฎิญญาข้างต้น ไทยให้ความสำคัญของความเชื่อมโยง (connectivity) ทั้งในระดับอนุภูมิภาค และการเชื่อมโยงแต่ละภูมิภาคเข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ACD โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมของเอเชียในระดับ people-to-people โดยการทำความรู้จักกันและกันให้มากยิ่งขึ้น ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการศึกษาความเชื่อมโยงทางกายภาพของเอเชีย รวมทั้งการศึกษาแลกเปลี่ยนด้านประวัติศาสตร์/วัฒนธรรมของชาติเอเชียตามรอย เส้นทางสายไหม

4. กิจกรรมที่ไทยเคยเป็นเจ้าภาพในกรอบ ACD

                  1. ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 1 และ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2545  และ 2546 ต่อมาประเทศสมาชิกที่เป็นประธาน ACD ในแต่ละปี ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ

                     2. The 1st ACD Tourism Business Forum, 22 - 24 พฤษภาคม 2546 ที่ จ. ภูเก็ต

                     3. The 2nd ACD Tourism Business Forum, 18-20 กรกฎาคม 2547 ที่ จ. เชียงใหม่

                     4. ACD High-Level Seminar on “Enhancing Financial Cooperation through Asian Bond Market Development”, 24-25 มีนาคม 2549 ที่กรุงเทพฯ

                     5. ACD Think Tanks Symposium : 15-17 ธันวาคม 2547 ที่กรุงเทพฯ

                              

                                เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2555  กระทรวงการต่างประเทศได้จัดประชุมระดมสมองเพื่อทบทวนบทบาทและทิศทางของไทยใน กรอบ ACD ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมต่างสนับสนุนแนวคิดที่จะฟื้นฟูความร่วมมือในกรอบ ACD ขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการพัฒนาทุนมนุษย์ ความร่วมมือด้านการศึกษา และการท่องเที่ยว นอกจากนั้น ยังเห็นว่า ความร่วมมือกับประเทศสมาชิก ACD ในสาขาพลังงาน การเกษตร การศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ SMEs เป็นสาขาที่น่าจะเอื้อประโยชน์กับไทยโดยตรง

 

เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ

http://www.acddialogue.com/

*********************************