วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ต.ค. 2556
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565
ความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา
รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับภูมิภาคลาตินอเมริกาในฐานะกลุ่มประเทศตลาดใหม่ที่ประกอบด้วยประเทศถึง ๔๖ ประเทศ และมีจำนวนประชากรรวมกว่า ๖๐๐ ล้านคน จึงมีความสำคัญทั้งในเชิงการเมือง เศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และความร่วมมือทางวิชาการ รวมทั้งการแลกเสียง/หาเสียงเพื่อสนับสนุนประเทศไทยในเวทีองค์การระหว่างประเทศ การดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและวิชาการ จึงมีเป้าหมายเพื่อปูทางและช่วยส่งเสริมและแก้ไขปัญหาข้อจำกัดด้านการค้าการลงทุนของภาคเอกชนไทยไปยังประเทศเป้าหมายทางเศรษฐกิจของไทยเป็นหลักกล่าวคือ ประเทศที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจหรือประเทศที่มีอิทธิพลในภูมิภาค และเหมาะสมในเชิงยุทธศาสตร์ทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาค เช่น บราซิล เปรู อาร์เจนตินา เพื่อให้สามารถสร้าง Gateway ให้ไทยเข้าสู่ลาตินอเมริกาได้สะดวกขึ้น โดยรูปแบบความร่วมมือประกอบด้วย
ความร่วมมือแบบทวิภาคี (Bilateral Cooperation) เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ และปัจจุบันมีความร่วมมือลักษณะทวิภาคีกับ ๖ ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก และเปรู ในลักษณะ South – South Cooperation เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่ไทยและประเทศคู่ร่วมมือมีศักยภาพ เช่น เกษตร ท่องเที่ยว วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และร่วมกันรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมในลักษณะ Cost – Sharing (ประเทศเจ้าภาพรับผิดชอบค่าใช้จ่ายภายในประเทศ และประเทศผู้ส่งรับผิดชอบค่าเดินทางระหว่างประเทศ) ตามหลักการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศกำลังพัฒนา(Technical Cooperation among Developing Countries - TCDC)
ความร่วมมือแบบไตรภาคี (Trilateral Cooperation) ฝ่ายไทยลงนาม MoU ความร่วมมือไตรภาคีกับอาร์เจนตินา บราซิล และชิลี เพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านของไทยในสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ เช่น การให้สินเชื่อชุมชน ใน สปป.ลาว ด้าน Food Security และมาลาเรีย ในเมียนมาร์