เซเนกัล

เซเนกัล

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 พ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 4,470 view

เซเนกัล-02-02-02-02

สาธารณรัฐเซเนกัล (Republic of Senegal)

ข้อมูลทั่วไปความร่วมมือเพื่อการพัฒนา

ความตกลง (Agreement)

ยังไม่มีความตกลงใด ๆ

.
กรอบแผนงาน (Framework)

ไม่มี

วิธีการดำเนินงานความร่วมมือ (Modality)

๑) ความร่วมมือทวิภาคี

๒) ความร่วมมือที่ให้กับภูมิภาคแอฟริกา

๓) ความร่วมมือไตรภาคี

รูปแบบความร่วมมือ (Form)
๑) โครงการความร่วมมือ 

๒) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (ทุนฝึกอบรมAITC/ทุนศึกษาTIPP)

สถานะการดำเนินความร่วมมือเพื่อการพัฒนา

ความร่วมมือ

รายละเอียด

1) ความร่วมมือทวิภาคี

๑. โครงการจัดตั้งโรงเพาะพันธุ์ปลานิล

    กรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้ให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับ Agence Nationale de l’ Aquaculture (ANA) ของเซเนกัล มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งโรงเพาะพันธุ์ปลานิลในเซเนกัล (Tilapia Hatchery) รวมถึงการฝึกอบรมด้านการผลิตอาหารปลาและอนุบาลสัตว์น้ำ พื้นที่ดำเนินโครงการ : เมือง Ricard Tolls

    ฝ่ายไทยได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากกรมประมงไปสำรวจพื้นที่/วางแผนการดำเนินโครงการ ได้แก่ (๑) การปรับปรุงอาคารสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (๒) การก่อสร้างบ่อพักน้ำเพื่อการระบายน้ำในโรงฟัก (๓) ปรับปรุงอาหคารและห้องปฏิบัติการ (๔) การติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังได้ลูกพันธุ์ปลานิล จำนวน ๒,๐๐๐ ตัว ให้แก่เซเนกัลด้วย สถานะล่าสุด  ดำเนินโครงการแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการพิจารณาต่อยอดโครงการ

๒. โครงการโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญไปติดตั้งโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ณ โบสถ์ St. Benoit de Keur Moussa ซึ่งมีการดำเนินการด้านการผลิตและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญไปดำเนินการฝึกอบรมในเรื่องที่เกี่ยวข้องให้แก่เจ้าหน้าที่เซเนกัล เช่น การบำรุงรักษาโรงอบ การอบแห้งผลไม้ชนิดต่าง ๆ การบรรจุหีบห่อ เป็นต้น สถานะล่าสุด ดำเนินโครงการแล้วเสร็จ และจากความสำเร็จของโครงการนี้ จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาต่อยอดและขยายผลโครงการ

๓. โครงการจัดตั้งโรงงานผลิตขาเทียม

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้สนับสนุนโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตขาเทียม  ตามคำขอของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ เพื่อฉลองครบรอบ ๓๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเซเนกัล โดยร่วมกับมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการ ดังนี้

๑) การส่งผู้เชี่ยวชาญไปสำรวจสถานที่พื้นที่โครงการ ในปี ๒๕๕๕

๒) การดูงานในประเทศไทยของผู้บริหารระดับสูงของเซเนกัล ในปี ๒๕๕๔

๓) การฝึกอบรมด้านการผลิตขาเทียมในประเทศไทย (ระหว่างปี ๒๕๕๔ – ๒๕๖๐) รวม ๖ ครั้ง

๔) การให้ทุนศึกษาต่อระดับปริญญาตรี หลักสูตร Bachelor of Prosthetics and Orthotics Programme  ณ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร ม.มหิดล จำนวน 1 ทุน (ระหว่างปี ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔)

๕) การจัดซื้ออุปกรณ์การผลิตขาเทียมและวัสดุอุปกร์ที่ใช้ผลิตขาเทียม (๕๐๐ ชุด)

๖) การส่งผู้เชี่ยวชาญไปติดตั้งอุปกรณ์ผลิตขาเทียมพร้อมทั้งควบคุมการใช้เครื่องมือและให้คำปรึกษาในการผลิตขาเทียม ในช่วงปี ๒๕๕๔ – ๒๕๕๕

๗) การส่งเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ไปเซเนกัลเพื่อประเมินผลความก้าวหน้า และทบทวนองค์ความรู้

สถานะล่าสุด จากความสำเร็จของโครงการนี้ จึงได้มีการขยายผลดำเนินโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตขาเทียมในเซเนกัล ระยะที่ ๒ ​ โดยดำเนินการระหว่างปี ๒๕๖๔ – ๒๕๖๕ ในพื้นที่เดิม ได้แก่ รพ.ทหาร Ouakam กรุงดาการ์ โดยฝ่ายเซเนกัลประสงค์ขอรับเครื่องจักรผลิตขาเทียมชุดใหม่ทดแทนชุดเดิมที่ทรุดโทรม และการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ และเมื่อวันที่ ๓๑ มี.ค. ๒๕๖๔ กรมความร่วมมือฯ ได้หารือกับฝ่ายเซเนกัลและ สอท. ณ กรุงดาการ์ เห็นพ้องจะเริ่มดำเนินกิจกรรมแรก คือ การจัดหาอุปกรณ์ และจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรภายในเดือน ก.ค. ๒๕๖๔

๔. โครงการหมู่บ้านนำร่องต้านมาลาเรียในเซเนกัล (Pilot Project on Malaria Control in a village in Senegal)

     กรมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินโครงการหมู่บ้านนำร่องต้านมาลาเรียในสาธารณรัฐเซเนกัล ตามคำขอของเซเนกัล มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรคมาลาเรียโดยการกำจัดไข่ยุงและลูกน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะ และได้มีการดำเนินการ ดังนี้ (๑) การสำรวจพื้นที่และเก็บข้อมูลและศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินงานโครงการเมื่อปี ๒๕๕๓ (๒) ส่งผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวไปจัดการฝึกอบรมด้านการป้องกันมาลาเรีย (Training on Malaria Control and Prevention) ให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และชาวบ้านในหมู่บ้าน ๓ แห่ง ในปี ๒๕๕๕ สถานะการดำเนินโครงการ : ดำเนินโครงการแล้วเสร็จ

๒) ความร่วมมือที่ให้กับภูมิภาคแอฟริกา

. โครงการมหาวิทยาลัยสัมพันธ์

       มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ และริเริ่มความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับภูมิภาคแอฟริกา โดยเชิญผู้แทนจากมหาวิทยาลัยในแอฟริกา ๑๐ แห่ง จาก ๙ ประเทศ มหาวิทยาลัยละ ๒ คน รวมทั้ง University of Chiekh Anta Diop de Dakar ของเซเนกัล เข้าร่วมดูงานมหาวิทยาลัยไทย ๖ แห่ง ระหว่างวันที่ ๑ – ๑๒ มี.ค. ๒๕๕๓ และต่อมากรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้นำคณะผู้แทนมหาวิทยาลัยไทยไปเยือนมหาวิทยาลัยในอียิปต์ ซูดาน โมร็อกโก และเซเนกัล ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๓๐ มิ.ย. ๒๕๕๓ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยของไทยได้เสนอแนวทางความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในแอฟริกา เช่น การแลกเปลี่ยนอาจารย์/นักศึกษา การฝึกอบรม และการทำวิจัยร่วม ด้วย

๒. การจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้กับประเทศในภูมิภาคแอฟริกาโดยร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  

    ๒.๑ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิตจัดการฝึกอบรมด้านการทูตและการต่างประเทศ หลักสูตร Diplomatic Skills for Professionals in International Affairs ให้แก่ภูมิภาคแอฟริกา ระหว่างปี ๒๕๕๒ – ๒๕๕๓ โดยมีผู้แทนจากเซเนกัล ๑ คน

 ๒.๒ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการฝึกอบรมด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Management) ให้แก่ภูมิภาคแอฟริกาในปี ๒๕๕๕ มีผู้แทนจากเซเนกัลเข้าร่วม ๔ คน และหลักสูตร Sustainable Development in Developing Country: Thailand Model for Africa ให้แก่ภูมิภาคแอฟริกาในปี ๒๕๖๑ โดยมีผู้แทนจากเซเนกัลเข้าร่วม 6 คน

๒.๓ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการฝึกอบรมหลักสูตร Small and Medium-sized Enterprises (SMEs) ให้แก่ภูมิภาคแอฟริกาในปี ๒๕๖๐ โดยมีผู้แทนจากเซเนกัลเข้าร่วม   ๑ คน

๒.๔ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับกรมควบคุมโรคจัดการฝึกอบรมหลักสูตร Malaria Prevention and Control ร่วมกับกรมควบคุมโรค ให้แก่เจ้าหน้าที่จากภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ รวม ๔ รุ่น โดยมีผู้แทนจากเซเนกัลเข้าร่วมด้วย

๓) ความร่วมมือไตรภาคี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในระหว่างปี ๒๕๕๗ – ปัจจุบัน ไทย – ญี่ปุ่น – เซเนกัล ได้ดำเนินความร่วมมือไตรภาคีระหว่างกัน รวม ๒ โครงการ ได้แก่

๑. โครงการด้านการเพิ่มผลผลิตข้าวให้แก่กลุ่มประเทศสมาชิก Coalition for African Rice Development (CARD)

    ระหว่างปี ๒๕๕๗ – ๒๕๖๐ ไทยและญี่ปุ่นได้สนับสนุนศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วิทยาเขตกำแพงแสน) จัดหลักสูตรฝึกอบรมภายใต้โครงการด้านการเพิ่มผลผลิตข้าวเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้านอาหารและบรรเทาความยากจนให้แก่กลุ่มประเทศสมาชิก Coalition for African Rice Development (CARD) (รวม ๒๓ ประเทศ รวมถึงเซเนกัล) โดยได้มีการดำเนินการ ดังนี้ (๑) การจัดฝึกอบรม Third Country Training Program (TCTP) ในประเทศไทย (๒) การศึกษาดูงานระดับ policy maker (๓) การฝึกอบรม Training for Trainers ให้แก่ จนท.ระดับเทคนิก ด้าน Mechanization 

๒. โครงการ Joint Technical Cooperation Project for Africa on the Promotion of Sustainable Development Approach based on Sufficiency Economy Philosophy (JOISEP)

เมื่อปี ๒๕๖๐ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศกับ JICA ได้ร่วมลงนามใน Partnership Arrangement (PA) เพื่อเป็นกรอบแนวทางความร่วมมือหุ้นส่วนให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ รวมทั้งแอฟริกา และสนองตอบประเด็นสำคัญในปัจจุบัน เช่น การบรรลุเป้าหมาย SDGs  และการนำหลัก SEP ไปประยุกต์ใช้ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะร่วมกันดำเนินโครงการ JOISEP และคัดเลือกเซเนกัลที่มีความสนใจต่อโครงการ Sustainable Development Approach based on Sufficiency Economy Philosophy ของไทยเป็นพื้นที่โครงการ โดยไทยกับญี่ปุ่นได้ร่วมกันจัดส่งคณะพร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ไปสำรวจพื้นที่ ๒ แห่งคือเมือง Thippe และ Lampoul (ตามที่ฝ่ายเซเนกัลเสนอมา) เมื่อปี ๒๕๖๒ ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้จัดส่งร่าง Concept Paper รายละเอียดโครงการให้ JICA พิจารณาแล้ว

๔) ทุนฝึกอบรมหลักสูตรนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course (AITC)

 

 

- ปัจจุบันกรมความร่วมมือฯ ได้แจ้งเวียนทุนฝึกอบรมระยะสั้น AITC ใน ๕ สาขาหลัก ได้แก่ Sufficiency Economy Philosophy (SEP), Food Security, Climate Change, Public Health, และ Others related to Sustainable Development Goals (SDGs) ให้แก่ประเทศต่าง ๆ รวมถึงเซเนกัล เป็นประจำทุกปี รายละเอียด ดังนี้

- ในระยะ ๕ ปี (๒๕๕๘ – ๒๕๖๒) ไทยให้ทุน AITC แก่เซเนกัลรวม ๗ ทุน

- ปี ๒๕๖๓ เนื่องจากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด COVID-19 จึงจัดอบรมแบบออนไลน์ แต่ไม่มีผู้เข้าร่วมจากเซเนกัล

- ปี ๒๕๖๔ จะแจ้งเวียนทุนที่เลื่อนมาจากปี ๒๕๖๓ และที่จะจัดใหม่ในปี ๒๕๖๔ ให้แก่ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งเซเนกัล ประมาณ ๓๗ หลักสูตร


สถานะ เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔

ส่วนวางแผนและติดตามผลการให้ความร่วมมือกับต่างประเทศ

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ