การฝึกอบรมนานาชาติ หลักสูตร “Sufficiency Economy Philosophy: Tools and Application for Sustainable Community Development"

การฝึกอบรมนานาชาติ หลักสูตร “Sufficiency Economy Philosophy: Tools and Application for Sustainable Community Development"

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ก.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 ก.ค. 2565

| 624 view

TICA ร่วมกับ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดการฝึกอบรม Online Annual International Training Course on “Sufficiency Economy Philosophy:  Tools and Application for Sustainable Community Development" ระหว่างวันที่ ๗ – ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

หลักสูตรดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของไทยในการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านการทำเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการและโครงการการพัฒนารูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

TICA ได้ประชาสัมพันธ์และแจ้งเวียนทุนหลักสูตรนี้ผ่านสถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ของไทยพบว่า มีผู้สมัครเข้าร่วมจำนวน ๕๘ ราย จาก ๒๒ ประเทศ โดยเข้าร่วมการฝึกอบรมไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐  จำนวน ๒๗ ราย จาก ๑๓ ประเทศ ได้แก่ ภูฏาน เอกวาดอร์ เอสวาตินี อินโดนีเซีย เมียนมา เนปาล ปานามา ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน ศรีลังกา เวียดนาม จอร์แดน และไนจีเรีย

สำหรับพิธีเปิดหลักสูตรนั้น นายชีวินท์ ณ ถลาง รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ และ  ดร.สุดเขต สกุลทอง ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวเปิดการฝึกอบรม และแนะนำภารกิจและบทบาทของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับทราบ โดยการจัดฝึกอบรมในครั้งนี้ได้ดำเนินการผ่านแอพพลิเคชัน Zoom Cloud Meeting ซึ่งใช้เป็นช่องทางหลักในการบรรยายสดตลอดทั้งหลักสูตร

TICA ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การอบรม พบว่า การอบรมครั้งนี้มีเนื้อหาที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ เนื่องจากเป็นการบรรยายเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านการทำเกษตรอินทรีย์แบบบูรณา เช่น  

(๑) “Philosophy of Sufficiency Economy: A New Ethical Paradigm for Sustainability” ได้อธิบายถึงที่มาและองค์ประกอบสำคัญของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน และเป็นไปตามเงื่อนไขของการมีคุณธรรมและความรู้

(๒) “The Best Practice of Sufficiency Economy to Community Development” ได้อธิบายการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในประเทศไทย โดยได้ยกตัวอย่างสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรหลากหลายแห่งในประเทศไทย เช่น มูร่าห์ฟาร์ม (Murrah Farm) ฟาร์มกระบือเพื่อการเรียนรู้ และชุมชนบ้านสบวิน ชุมชนเชิงท่องเที่ยวในจ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น และมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

(๓) “Bio-Circular Green Economy: BCG” ได้อธิบายแนวคิดของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเกิดจากการรวมกันของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ โดยวิทยากรได้ยกตัวอย่างการทำเกษตรอินทรีย์ในลักษณะผสมผสาน ซึ่งประกอบด้วยการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อใช้พื้นที่ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับเกษตรกร

(๔) “Organic Cannabis for Medical Use” ได้อธิบายถึง การปลูกกัญชาอินทรีย์เพื่อใช้ในทางการแพทย์ โดยได้อธิบายการปลูกกัญชาภายใต้ระบบมาตรฐานของฟาร์มอัจฉริยะภายในโรงเรือน (Indoor Smart Farming) โดยเริ่มตั้งแต่การเพาะกล้ากัญชา การลงปลูก และการดูแลต้นกัญชา รวมถึงการเก็บเกี่ยวช่อดอกกัญชา เพื่อนำมาผ่านกระบวนการผึ่งแห้งในโรงผึ่งแห้ง แล้วจึงนำช่อดอกกัญชาไปเก็บไว้ในที่ที่มีระบบความปลอดภัย เพื่อนำไปผลิตยารักษาโรคและใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป

หลังจากสิ้นสุดการอบรม TICA ได้จัดทำแบบประเมินความพึงพอใจให้ผู้เข้าร่วมอบรม โดยแบ่งการประเมินออกเป็น ๒ ส่วน ดังนี้

๑) การประเมินความพึงพอใจผ่านการให้คะแนน สรุปผลการประเมินจากผู้ทำแบบประเมิน ๒๙ ราย พบว่า ร้อยละ ๘๙ พึงพอใจในการเข้าร่วมหลักสูตรดังกล่าว โดยให้ความเห็นว่าหลังจากการอบรมทำให้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น อีกทั้งสามารถนำความรู้ไปต่อยอดในสาขาอาชีพของตนและพัฒนาชุมชนเพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

๒) การแสดงความคิดเห็นในการเข้าร่วมหลักสูตร   ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมกล่าวถึงความร่วมมือในอนาคตระหว่างประเทศไทยกับประเทศของตนในด้านการเกษตรและการท่องเที่ยว โดยบางรายได้กล่าวถึงความร่วมมือเชิงวิชาการในด้านการปลูกกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ รวมถึงการเข้ามาศึกษาดูงานและการทำวิจัยร่วมกันระหว่างประเทศไทยและประเทศของตนในด้านเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งสนับสนุนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ