การศึกษาดูงานและติดตามผลโครงการพัฒนาศูนย์ผลิตขาเทียมในเซเนกัลและบุรุนดีที่มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จ. เชียงใหม่

การศึกษาดูงานและติดตามผลโครงการพัฒนาศูนย์ผลิตขาเทียมในเซเนกัลและบุรุนดีที่มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จ. เชียงใหม่

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 ก.พ. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 685 view

เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานและติดตามผลโครงการพัฒนาศูนย์ผลิตขาเทียมในเซเนกัลและบุรุนดีที่มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จ. เชียงใหม่ โดยมี รศ. นพ. วัชระ รุจิเวชพงศธร เลขาธิการมูลนิธิขาเทียมฯ และคณะ ให้การต้อนรับและรายงานผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าว

โครงการพัฒนาศูนย์ผลิตขาเทียมในเซเนกัลและบุรุนดี ปัจจุบันเป็นการดำเนินงานโดยมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมความร่วมมือฯ และเป็นการดำเนินงานต่อยอดจากโครงการพัฒนาศูนย์ผลิตขาเทียมในเซเนกัล ระยะที่ ๑ (ระหว่างปี ๒๕๕๔-๒๕๕๘) และในบุรุนดี (ระหว่างปี ๒๕๕๒ – ๒๕๕๔) ซึ่งประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนการวางระบบจัดตั้งศูนย์ผลิตขาเทียมในทั้งสองประเทศนี้ โดยได้ให้การสนับสนุนทั้งผู้เชี่ยวชาญ อุปกรณ์ที่จำเป็น และพัฒนาบุคลากรให้แก่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ โดยการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะในการปฏิบัติงาน จากการดำเนินการในระยะที่ 1 ผ่านมาการผลิตขาเทียมในเซเนกัลได้รับการยอมรับจากประชาชนในเซเนกัลอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องการบริการที่รวดเร็ว รวมทั้งขาเทียมที่ผลิตได้สามารถใช้งานได้มีประสิทธิภาพ สามารถสวมใส่ได้สบาย และมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการไปทำขาเทียมที่ประเทศอื่น ๆ เมื่อระยะเวลาผ่านไปเทคโนโลยีการผลิตขาเทียมมีการพัฒนาไป กอปรกับอุปกรณ์ที่ฝ่ายไทยได้เคยให้การสนับสนุนมีการชำรุดและเสียหายไปตามกาลเวลา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ฝ่ายไทยได้ให้การฝึกอบรมได้เกษียณอายุ เซเนกัลและบุรุนดีจึงได้ขอให้ฝ่ายไทยให้การสนับสนุนเพิ่มเติมในลักษณะต่อยอด ซึ่งฝ่ายไทยจึงได้ออกแบบกิจกรรมภายใต้โครงการฯ ระยะที่ ๒ โดยมีระยะเวลาการดำเนินงาน ๑ ปี ในปี ๒๕๖๕ นี้ โดยเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเทคโนโลยีการผลิตขาเทียมใหม่และการสนับสนุนอุปกรณ์บางส่วนแก่ศูนย์ผลิตขาเทียมที่เซเนกัล ซึ่งโครงการระยะที่ ๒ นี้ จะมุ่งเน้นการสร้างครูฝึกของทั้งเซเนกัลและบุรุนดีในลักษณะ Training for the Trainers เพื่อที่ให้ศูนย์ผลิตขาเทียมของทั้ง ๒ แห่ง สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ในรุ่นต่อ ๆ ไปได้เอง และสำหรับศูนย์ผลิตขาเทียมที่เซเนกัลนั้น ซึ่งมีความพร้อมทั้งบุคลากรและสถานที่ น่าจะสามารถพัฒนาเป็นศูนย์ที่ให้ทั้งการบริการผลิตขาเทียมและการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผลิตขาเทียมในทวีปแอฟริกาต่อไปได้

ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่จากเซเนกัลและบุรุนดีอยู่ระหว่างการฝึกอบรมหลักสูตร Basic Lower Limb Prosthesis ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกของการดำเนินโครงการฯ ระยะที่ ๒ ที่มูลนิธิขาเทียม จ. เชียงใหม่ โดยใช้ระยะเวลาในการฝึกอบรมเป็นเวลาร่วม ๖ เดือน (ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - มิถุนายน 2๕๖๕) หลักสูตรดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมสามารถผลิตขาเทียมในระดับข้อเท้าและใต้เข่าได้เมื่อเสร็จสิ้นการอบรม และในระหว่างการฝึกอบรมในประเทศไทยจะมีโอกาสในการเข้าร่วมการผลิตขาเทียมแก่คนไข้ทั้งที่มูลนิธิขาเทียม จ. เชียงใหม่ และการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ผลิตขาเทียมในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์และความชำนาญของเจ้าหน้าที่ต่อไป

หลังจากการฝึกอบรมหลักสูตรนี้ จะมีการจัดการฝึกอบรมต่อเนื่องแก่เจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญในระดับต่อไปอีก ๓ หลักสูตรภายในปี ๒๕๖๕ ได้แก่ หลักสูตร ระดับที่ ๑ และ ๒ สำหรับ Prosthesis Technician และหลักสูตร Maintenance and Repair of the Machines, Tools, and Equipment of the Foundation’s sand-casting Prosthesis Fabrication ซึ่งจะมุ่งเน้นการดูแลซ่อมแซมรักษาอุปกรณ์ผลิตขาเทียม เพื่อให้ศูนย์ทั้ง ๒ แห่งสามารถบริหารจัดการการดูแลอุปกรณ์ประจำศูนย์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นอกจากการพัฒนาศูนย์ผลิตขาเทียมในเซเนกัลและบุรุนดีแล้ว กรมความร่วมมือฯ และมูลนิธิขาเทียมฯ ยังได้หารือความเป็นไปได้ในการต่อยอดการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาด้านการผลิตขาเทียม ให้กับประเทศอื่น ๆ ที่สนใจเพื่อเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของไทยในการส่งเสริมให้ประชาชนหรือผู้ป่วยที่ต้องการได้รับขาเทียมสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่งถึงและสามารถได้รับขาเทียมที่มีคุณภาพต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ