ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา

ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา

2,502 view

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD)

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินงานการจัดหลักสูตรศึกษาระดับปริญญาโทนานาชาติ (Thailand International Postgraduate Programme: TIPP) และหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติประจำปี (Annual International Training Course: AITC) ตามแผนงาน ๓ ปี โดยคำนึงถึงสาขา  ที่ไทยมีศักยภาพในการแบ่งปันประสบการณ์หรือหลักปฏิบัติที่ดีในด้านต่าง ๆ อาทิ ความมั่นคงด้านสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางอาชีพ และความมั่นคงทางพลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals - SDGs) นอกจากนี้ยังได้สอดแทรกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่สมดุลและยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล ตลอดจนเป็นวาระแห่งชาติของไทยและเชื่อมโยงกับการพัฒนาในมิติสำคัญ โดยมี ๖ หัวข้อหลัก ดังนี้

 

๑. Sufficiency Economy Philosophy

leaves

เป้าหมายหลัก : เพื่อเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร-มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ให้เป็นที่รู้จักในเวทีนานาชาติ ทั้งในเรื่องแนวคิดและการนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และผู้เข้าร่วมฝึกอบรมสามารถนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับประเทศของตนได้ 

ด้านที่เน้นความสำคัญ

๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการนำไปปรับใช้ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและชุมชน

๒. การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมิติการพัฒนาต่าง ๆ อาทิ เกษตรกรรม อาทิ การเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ การพัฒนาชุมชน อาทิ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน อาทิ วิสาหกิจชุมชน (Community Enterprise) กองทุนชุมชน (Community Fund) และสหกรณ์ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อาทิ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ รวมถึงหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงด้านการท่องเที่ยว

 

๒. Public Health

heart-attack-2

เป้าหมายหลัก : เพื่อแบ่งปันความรู้ในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข อาทิ สาธารณสุขมูลฐาน (Primary health care) ระบบสุขภาพชุมชน (Community health care system) และระบบหลักประกัน-สุขภาพ (Universal health coverage) รวมถึงการสร้างนวัตกรรมในระบบสุขภาพ

ด้านที่เน้นความสำคัญ

. การเสริมสร้างศักยภาพชุมชนในการจัดการสุขภาพเพื่อนำไปสู่ชุมชนสุขภาวะ (Community Health) อาทิ การส่งเสริมระบบสุขภาพชุมชน การพัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุข การจัดตั้งกองทุนสุขภาพชุมชน การทำแผนสุขภาพชุมชน และการพัฒนาฐานข้อมูลชุมชน

๒. การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพ (Health Systems Strengthening) ในด้านนโยบาย งบประมาณ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

๓. การยกระดับสาธารณสุขมูลฐาน (Primary health care) อาทิ การบริหารจัดการสุขภาพแม่และเด็ก สุขภาพเด็กก่อนวัยเรียน การเพิ่มศักยภาพเด็กในชุมชน และการป้องกันปัญหาสังคมที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก เช่น ปัญหาสุขภาพจิต การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เป็นต้น

๔. การเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged society) เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ตลอดจนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบอัตโนมัติ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ

๕. การส่งเสริมอาชีวอนามัย (Occupational Health) โดยการจัดสภาพแวดล้อมการทำงาน การเตรียมเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับการประกอบอาชีพเพื่อความปลอดภัยของคนทำงาน และการป้องกันโรคหรืออาการที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น โรคทางเดินหายใจที่เป็นผลจากการสัมผัสมลพิษทางอากาศ ความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ออฟฟิศซินโดรม เป็นต้น

๖. สาขาอื่น ๆ ที่ไทยมีศักยภาพหรือประสงค์จะสร้างเสริมศักยภาพผ่านการสร้างเครือข่ายระหว่าง-ประเทศ อาทิ โรคเขตร้อน และโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ

 

๓. Agriculture and Food Security

wheat

เป้าหมายหลัก : เพื่อแบ่งปันความรู้ด้านโภชนาการและความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากความต้องการบริโภคอาหารของประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการขจัดความหิวโหย อาทิ การเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและเพียงพอ เพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพและมีสุขภาพที่ดี

ด้านที่เน้นความสำคัญ การเกษตรที่ยั่งยืนเพื่อให้มีอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ อาทิ

๑. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรเพื่อให้เกิดระบบการผลิตที่มั่นคง

๒. การลดความสูญเสียจากการปฏิบัติการหลังการเก็บเกี่ยว และการผลิตอาหารที่มีคุณภาพมาตรฐาน

 

๔. Climate Change and Environmental Issues

planet-earth

เป้าหมายหลัก : เพื่อแบ่งปันความรู้และแนวทางแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน การลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ด้านที่เน้นความสำคัญ

๑. การประเมินความเสี่ยงในอนาคตที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตร และการท่องเที่ยว อาทิ ผลกระทบต่อผลิตผลทางการเกษตร แหล่งน้ำ/ลุ่มน้ำ ชายฝั่ง

๒. การปรับโครงสร้างการผลิตและการใช้พลังงาน อาทิ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสู่การใช้พลังงานไฟฟ้า (Electrification) การใช้ชีวมวลท้องถิ่นเพื่อเป็นแหล่งพลังงานทางเลือก และการนำเทคโนโลยีที่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม (Environmentally Sound Technologies: ESTs) มาใช้

๓. การสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ทรัพยากรชีวภาพโดยบูรณาการองค์ความรู้ท้องถิ่นกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนผ่านการผลิตและบริโภคอย่างรับผิดชอบ อาทิ การออกแบบการผลิตให้เกิดของเสียน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ (Zero waste) รวมถึงการใช้ซ้ำและนำกลับมาใช้ใหม่

๔. การสนับสนุนการเกษตรในเมือง (Urban agriculture) เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากรโดยการใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการส่งเสริมระบบนิเวศเมือง (Urban ecosystem)   

 

๕. Bio-Circular-Green Economy: BCG Model

target

เป้าหมายหลัก : เพื่อแบ่งปันแนวปฏิบัติในการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของไทย พร้อมไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และเพื่อสร้างการกระจายรายได้ทั้งในระดับเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจภูมิภาคของประเทศต่าง ๆ โดยการบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนใน ๔ อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ได้แก่ (๑) อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร (๒) อุตสาหกรรมพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ (๓) อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และ (๔) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ด้านที่เน้นความสำคัญ

๑. อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เช่น การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรโดยการทำการเกษตรอัจฉริยะ (Smart farming) และการนำเทคโนโลยีอาหาร (Food Technology) มาใช้เพื่อปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพอาหาร รวมถึงการยืดอายุอาหาร และการผลิตสารอาหาร/โปรตีนทดแทน

๒. อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ เช่น การพัฒนานวัตกรรมในระบบสุขภาพ เช่น การสร้างนวัตกรรมยา วัคซีน ยาชีววัตถุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและอาหารเสริม รวมถึงการวิจัยทางคลินิกและการบริหารจัดการข้อมูลวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อรองรับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

๓. อุตสาหกรรมพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ เช่น การพัฒนานวัตกรรมการผลิตพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง การสร้างโรงไฟฟ้าที่มีแหล่งพลังงานทดแทนในพื้นที่ เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ ชีวมวล (รวมขยะ) และก๊าซชีวภาพ และสร้างรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าด้วยการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) รวมถึงการต่อยอดผลิตภัณฑ์เคมีและชีววัสดุมูลค่าสูง

๔. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนด้วยการใช้จุดแข็งด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาทิ การให้ประสบการณ์กับนักท่องเที่ยวผ่านการท่องเที่ยวเชิงอาหารท้องถิ่น การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงศิลปะและวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นต้น

 

๖. สาขาอื่นที่ไทยมีศักยภาพในการแบ่งปันหลักปฏิบัติที่ดี (Best Practices) หรือประสบการณ์ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals – SDGs)

worldwide

เป้าหมายหลัก : เพื่อแบ่งปันประสบการณ์และหลักปฏิบัติที่ดีในสาขาที่ไทยมีศักยภาพและเป็นที่ยอมรับ ในระดับนานาชาติ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เช่น การส่งเสริมความร่วมมือในการปราบปรามปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ การส่งเสริมให้มีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันระหว่างเพศ (Gender Equality) การส่งเสริมศักยภาพให้ผู้หญิง (Women empowerment) เป็นต้น