ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา
ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา
วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ส.ค. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
อาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends from Thailand)
ความเป็นมา
กระทรวงการต่างประเทศได้ริเริ่มโครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends from Thailand –FFT) ตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ภายใต้ภารกิจการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทยกับต่างประเทศ ของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยได้จัดส่งอาสาสมัครไทยไปปฏิบัติงานในต่างประเทศภายใต้โครงการพัฒนาและตามคำขอของประเทศคู่ร่วมมือต่าง ๆ ซึ่งเป็นการขยายรูปแบบการให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทยเพิ่มเติมจากที่เคยมุ่งเน้นการดำเนินการในลักษณะรูปแบบโครงการ ทุนศึกษา/ทุนฝึกอบรม การส่งผู้เชี่ยวชาญไปปฏิบัติงาน และการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์สำหรับดำเนินงาน โดยมุ่งเป้าหมายสู่ผู้รับในระดับท้องถิ่นและประชาชน เพื่อส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในฐานะหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่สอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เสริมสร้างความสัมพันธ์และทัศนคติที่ดีต่อประเทศไทยในระดับประชาชน ส่งเสริมเอกลักษณ์ไทย รวมทั้งเป็นการพัฒนาและขยายโอกาสให้บุคลากรของไทยในระดับคนรุ่นหนุ่มสาวได้พัฒนาศักยภาพในการทำงานระดับนานาชาติเพิ่มขึ้น โดยประเทศเป้าหมายในการส่งอาสาสมัครเพื่อนไทยไปปฏิบัติงาน ได้แก่ ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ และแอฟริกา จนถึงปัจจุบัน (๒๕๖๓) มีจำนวนอาสาสมัครเพื่อนไทยทั้งสิ้น ๑๕๘ คน ทั้งนี้ โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทยได้ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับต่างประเทศ ครั้งที่ ๑/๒๕๔๖ และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๖ รับทราบและเห็นชอบผลการประชุมคณะกรรมการฯ ดังกล่าวด้วยแล้ว
วัตถุประสงค์
๑) เสริมสร้างบทบาทและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ
๒) เสริมสร้างความสัมพันธ์และทัศนคติที่ดีต่อประเทศคู่ร่วมมือในระดับประชาชน
๓) ขยายรูปแบบการให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของประเทศไทย
๔) เสริมสร้างประสบการณ์และพัฒนาบุคลากรของไทยในการปฏิบัติงานในต่างประเทศ
เป้าหมายพื้นที่ปฏิบัติงาน
กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และประเทศที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ เช่น ภูฏาน ติมอร์-เลสเต และประเทศในแอฟริกา เป็นต้น
สาขาเป้าหมาย
สาขาความร่วมมือที่มีการจัดส่งอาสาสมัครเพื่อนไทยไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ เป็นสาขาที่สร้างความไว้วางใจแก่ประเทศคู่ร่วมมือ และสอดคล้องกับสาขาความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทย อาทิ
สาธารณสุข – เช่น พยาบาล อนามัยชุมชน สาธารณสุขพื้นฐาน เป็นต้น
เกษตร – เช่น พืชไร่ พืชสวน เกษตรที่สูง ป่าไม้ เป็นต้น
ฝีมือแรงงาน – เช่น ช่างเทคนิค เป็นต้น
การศึกษา – เช่น การสอนคอมพิวเตอร์ การสอนภาษาไทย เป็นต้น
การพัฒนาชนบท – เช่น การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม การส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชนการจัดตั้งองค์กรด้านการพัฒนา การจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน เป็นต้น
เอกลักษณ์ไทย – กีฬา อาหาร วัฒนธรรมอื่น ๆ
ระยะเวลาปฏิบัติงาน ๑ – ๒ ปี
ภารกิจ
๑) สนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานในประเทศผู้รับตามที่เห็นชอบร่วมกัน
๒) ถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการให้กับบุคลากรหน่วยงานผู้รับ
๓) สนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาในประเทศผู้รับ เช่น ศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงาน และพื้นที่ที่ไปปฏิบัติงาน
๔) แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกับหน่วยงานต้นสังกัด และระดับท้องถิ่น/ประชาชน
๕) เผยแพร่วัฒนธรรมของไทย
การดำเนินงาน
๑) ตามคำขอ คือ รัฐบาลของประเทศผู้รับจะรวบรวมข้อเสนอขอรับความร่วมมือด้านอาสาสมัครเพื่อนไทยจากหน่วยงานต่าง ๆ ส่งให้กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ พิจารณาตามกรอบสาขาที่ระบุไว้ในบันทึกความเข้าใจ ได้แก่ การเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว และด้านอาชีวศึกษา
๒) ภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ซึ่งจะเป็นกิจกรรมหนึ่งที่กำหนดในแผนงานโครงการที่กำหนดไว้ โดยจะส่งตามความจำเป็นและเหมาะสม
คุณสมบัติของผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ
๑) ต้องมีสัญชาติไทย
๒) มีอายุระหว่าง ๒๑ - ๓๕ ปี (หากเป็นชายต้องพ้นภาระการเกณฑ์ทหาร)
๓) สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. ขึ้นไป ในสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น พยาบาลศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์เกษตรศาสตร์ ช่างเครื่องกล ช่างยนต์ ช่างโลหะ ช่างไฟฟ้า ช่างอุตสาหกรรม คอมพิวเตอร์ ศึกษาศาสตร์ อักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ด้านการสอนภาษาไทย และสังคมศาสตร์
๔) สามารถพูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษได้ดี หากมีความรู้ภาษาท้องถิ่นของประเทศที่จะไปปฏิบัติงาน จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
๕) มีมนุษย์สัมพันธ์ดี เหมาะสมที่จะเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศ
๖) มีสุขภาพดี ไม่มีโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่อาสาสมัคร
กระบวนการคัดเลือก
กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ประกาศรับสมัครอาสาสมัครเพื่อนไทยประจำปี และแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกอาสาสมัคร โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ร่วมเป็นกรรมการในการคัดเลือก โดยจัดการทดสอบองค์ความรู้ และจัดการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมก่อนการไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ