ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา
ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา
วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ส.ค. 2563
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานโครงการที่มีกระบวนการในการทำงานที่ครอบคลุมองค์ประกอบหลักของการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน ได้แก่ การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี การสนับสนุนวัสดุและอุปกรณ์ การจัดส่งผู้เชี่ยวชาญและอาสาสมัครภายใต้โครงการ และอาจรวมถึงการก่อสร้างหรือพัฒนาอาคารสถานที่ โดยจะดำเนินการในสาขาต่าง ๆ ที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญ อาทิ การเกษตร การศึกษา สาธารณสุข การท่องเที่ยว การพัฒนาชุมชน
การดำเนินงานโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาจะมีขั้นตอนดังนี้
๑. พิจารณาข้อเสนอโครงการในเบื้องต้นว่ามีความเหมาะสมสำหรับการประเมินในขั้นต่อไปหรือไม่ โดยจะคำนึงถึงแนวทางในการดำเนินกิจกรรม ทรัพยากรที่จะต้องและการบริหารจัดการกิจกรรมสำหรับการดำเนินการ ซึ่งจะมีเกณฑ์การพิจารณาเบื้องต้น คือ ข้อเสนอโครงการต้องสอดคล้องกับนโยบาย/ยุทธศาสตร์/แผนงานการให้ความร่วมมือของไทย สอดคล้องกันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศคู่ร่วมมือ ไม่ซ้ำซ้อนกับประเทศผู้ให้อื่นที่ให้ความร่วมมือกับประเทศนั้น ๆ หน่วยงานที่เสนอโครงการต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนั้นโดยตรง และเป็นคำขอที่เสนอผ่านรัฐบาลของประเทศคู่ร่วมมือ
หากข้อเสนอโครงการมีความเป็นไปที่จะให้การสนับสนุน ในขั้นตอนนี้ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมว่า ผู้เชี่ยวชาญหรือหน่วยงานเชี่ยวชาญที่จะเข้าไปดำเนินการสำรวจและประเมินความพร้อมควรจะประกอบด้วยหน่วยงานใดบ้าง เพื่อให้การไปสำรวจมีความพร้อมและได้ข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจมากที่สุด
๒. สำรวจและประเมินความพร้อมตลอดจนศักยภาพในพื้นที่ (Preliminary Needs Assessment หรือ Fact Finding) เพื่อศึกษาและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของโครงการ สำรวจสภาพปัจจุบัน และความพร้อมที่จะตั้งโครงการ สภาพปัญหา ลักษณะทางการภาพ ความต้องการที่แท้จริง ข้อมูลที่เกี่ยวกับหน่วยงานที่จะรับผิดชอบ การมีส่วนร่วมของประเทศคู่ร่วมมือ รวมทั้งตรวจสอบโครงการอื่น ๆ เพื่อความถูกต้อง ซึ่งอาจจะเรียกว่า เป็นการ “รู้เขา”
๓. จัดทำ Logical Framework และ Operation Plan (Preparation of Groundwork) เป็นการออกแบบโครงการร่างแผนงาน/กิจกรรมที่จะดำเนินงานโครงการ และประมาณการค่าใช้จ่ายใจการดำเนินงานโครงการ รวมทั้งระบุหน่วยงานผู้รับผิดชอบในแต่ละแผนงาน/กิจกรรม
๔. ดำเนินกิจกรรมตามแผนงานและติดตามผลการปฏิบัติงาน (Project Operation and Monitoring)
๕. ประชุมคณะกรรมการกำกับโครงการ (Project Steering Committee (PSC) Meeting) ซึ่งเป็นกลไกในการกำกับการดำเนินงานโครงการเพื่อหารือในแผนงานที่จะดำเนินการต่อไปและหารือเพื่อแก้ปัญหา (หากมี) หรือให้คำแนะนำต่างๆ เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการบรรลุได้ตามวัตถุประสงค์โครงการ
๖. ทบทวนแผนและติดตามผลการดำเนินโครงการระยะกลาง (Midterm Review)
๗. ส่งมอบและประเมินผลโครงการหลังครบกำหนดดำเนินโครงการตามแผน 3 ปี หรือตามแผนงาน (Project Handover & Terminal Evaluation)