ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา

ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา

ความร่วมมือ ใต้-ใต้ (South-South Cooperation)

ความร่วมมือ ใต้-ใต้ (South-South Cooperation)

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 เม.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 เม.ย. 2565

| 9,681 view

             ความร่วมมือใต้–ใต้ หรือ ความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา ไม่ได้ยึดหลักการแบ่งจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นหลัก หากแต่หมายถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการที่ประเทศกำลังพัฒนาให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หลังจากที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มให้ความช่วยเหลือกับประเทศกลุ่มนี้น้อยลง และเริ่มมีเงื่อนไขผูกพันในการให้ความช่วยเหลือมากขึ้น อาทิ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการระหว่างประเทศกำลังพัฒนานี้ อาจเป็นในลักษณะของการให้ทุนการศึกษา ทุนฝึกอบรม ทุนดูงาน การส่งผู้เชี่ยวชาญ วัสดุอุปกรณ์ ทรัพยากร การส่งอาสาสมัครไปปฏิบัติงาน การแลกเปลี่ยนทางวิชาการและทักษะความรู้ การแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกันอื่นๆ เช่น การให้ความร่วมมือด้านทุนฝึกอบรมระยะสั้นในสาขาการเกษตรของไทยแก่ประเทศในแอฟริกา โดยความร่วมมือมีทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม การเกษตร การศึกษา สาธารณสุข สาธารณูปโภค การท่องเที่ยว ความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน เป็นต้น

ประวัติความเป็นมา

             การก่อตัวของความร่วมมือใต้-ใต้ สามารถย้อนไปถึงการประชุมเอเชีย–แอฟริกันที่จัดขึ้นที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซียในปี พ. ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าการประชุมบันดุง การประชุมครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ประเทศที่เข้าร่วมไม่ใช่อาณานิคมของมหาอำนาจยุโรป กล่าวคือการประชุมบันดุงเป็นการรวมตัวของประเทศหลังอาณานิคมหรือประเทศโลกที่สามที่มีต่อการครอบงำของชาติตะวันตกในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศต่างๆหลังได้รับเอกราชจากการถูกครอบงำจากประเทศอาณานิคมในเวลานั้นต่างเห็นพ้องกันว่าความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันมีความสำคัญกว่าการเป็นพันธมิตรกับมหาอำนาจใดเพียงหนึ่งเดียว

IMG_5684__1

             ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ สหประชาชาติได้มีการจัดตั้งโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือ United Nations Development Programme (UNDP) และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติให้การรับรองการจัดตั้งหน่วยงานภายใน UNDP ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน หรือ Technical Cooperation among developing countries (TCDC) ซึ่งนับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ United Nations Office for South-South Cooperation (UNOSSC) ในเวลาต่อมา

             ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ การประชุมที่อาร์เจนตินาเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญของความร่วมมือใต้–ใต้ เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของการรับรอง Buenos Aires Plan of Action for Promoting and Implementing Technical Cooperation (BAPA) ซึ่งรับรองโดยสมาชิกสหประชาชาติจำนวน ๑๓๘ ประเทศ ความสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดกรอบของความร่วมมือของประเทศกำลังพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางซีกโลกใต้ และมีการกำหนดหลักการที่สำคัญที่แต่ละรัฐจะต้องยึดคือหลักการเคารพอำนาจอธิปไตย ไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกันและคำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างกัน

412A2954_ok_1

             และในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ถือเป็นปีแห่งการจัดตั้งสำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้–ใต้ United Nations Office for South-South Cooperation (UNOSSC) อย่างเป็นทางการ เมื่อมีการแยกหน่วยความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน หรือ Technical Cooperation among developing countries (TCDC) ออกมาจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือ United Nations Development Programme (UNDP)

ความสำคัญ     

             ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของความร่วมมือใต้–ใต้ นั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาที่ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (solidarity) บนหลักการที่สำคัญ เช่น การเคารพต่ออำนาจอธิปไตย การไม่แทรกแซงกิจการภายใน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยที่ผ่านมาความช่วยเหลือด้านการพัฒนาเป็นไปในลักษณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมอบความช่วยเหลือให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา แต่ในปัจจุบัน ความร่วมมือใต้–ใต้ได้ช่วยส่งเสริมความร่วมมือต่างๆระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน และลดการพึ่งพาการรับความช่วยเหลือจากประเทศพัฒนาแล้วให้น้อยลง มุ่งเน้นการถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการมากกว่าการจัดตั้งโครงการที่ตั้งอยู่บนเงื่อนไข และเนื่องจากการมีบริบทการพัฒนาที่คล้ายคลึงกัน ประเทศกำลังพัฒนาสามารถร่วมกันแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี การแก้ไขปัญหาการพัฒนาต่างๆ ที่สามารถปรับเข้ากับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศผู้รับได้เป็นอย่างดี

คู่มือ_“การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในต่างประเทศ”_page-0001_2

             นอกจากนี้ ความร่วมมือใต้–ใต้ ยังช่วยส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆเหล่านี้มีเสียงและมีพลังที่มากขึ้นในเวทีประชาคมโลก และยังถือได้ว่าเป็นเครื่องมือทางการทูตอย่างหนึ่งในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันและสนับสนุนรูปแบบธรรมาภิบาลของโลกที่มีความเป็นประชาธิปไตยและเท่าเทียม ยิ่งในปัจจุบันที่โลกต้องประสบกับความท้าทายต่างๆทั้งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ภัยพิบัติทางธรรมชาติและการระบาดของโรคโควิด–19 การร่วมมือกันยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ และยังถือได้ว่าความร่วมมือใต้–ใต้ เป็นพลังสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ๒๐๓๐ (SDGs 17) ทั้งในมิติของการแก้ไขปัญหาความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร หรือการมีบทบาทสำคัญในการจำกัดภาวะโลกร้อนให้มีอุณภูมิที่เพิ่มขึ้นต่ำกว่า ๒ องศาเซลเซียส เป็นต้น

ความร่วมมือใต้-ใต้ กับประเทศไทย

             วิกฤติการณ์โรคโควิด–19 สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจและสังคม ในขณะเดียวกันวิกฤติครั้งนี้ยังเป็นโอกาสให้เราได้ทบทวนแนวทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงฐานราก อันประกอบไปด้วย ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และภูมิคุ้มกัน สามารถเป็นแนวทางที่สำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤติโควิด รวมทั้งสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ซึ่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเน้นถึงการมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงกระจายไปถึงระดับรากหญ้าและการมีความสามารถในการปรับตัวและมีภูมิคุ้มกันจากความเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันไม่แน่นอน

412A9885

             ประเทศไทยจึงได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามข้อริเริ่ม “SEP for SDGs Partnership” เพื่อการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของประเทศไทยมีทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น การให้ทุนการศึกษา/ฝึกอบรม หรือการส่งผู้ชำนาญการด้านต่างๆ และการส่งอาสาสมัครไปสนับสนุนโครงการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ โดยมีเป้าหมายหลักคือประเทศเพื่อนบ้านเป็นประเทศคู่ร่วมมือหลัก เนื่องจากการมีพรมแดนติดกัน ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาไปด้วยกัน หากประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต จะนำมาซึ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมีเสถียรภาพทางสังคมและความมั่นคงร่วมกัน ลดปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ โรคระบาด ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไข ผลกระทบก็จะตกมาสู่ประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

412A5245__1

             นอกจากนี้ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทยยังเป็นเสมือนเครื่องมือทางการทูตในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นำไปสู่ความเข้มแข็งและสามัคคีในการรวมตัวในระดับภูมิภาค ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งการสนับสนุนให้ไทยได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆในเวทีระหว่างประเทศ มีอำนาจต่อรอง มีเกียรติภูมิในประชาคม ได้รับการยอมรับในระดับสากล เสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ ต่อยอดไปถึงการท่องเที่ยวได้อีกด้วย จะเห็นได้ว่าความร่วมมือเพื่อการพัฒนาหรือความร่วมมือใต้–ใต้ของไทยจะนำประโยชน์มาสู่ประเทศไทยเองในท้ายที่สุด ซึ่งผลประโยชน์ที่ไทยได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อมเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้

สรุป

             ประเทศในกลุ่มซีกโลกใต้ได้กลายเป็นส่วนสำคัญในเวทีด้านสังคมและเศรษฐกิจระดับโลก ในปัจจุบันประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศจากเดิมที่เป็นประเทศผู้รับความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวได้เปลี่ยนมาเป็นประเทศผู้ให้ใหม่ ซึ่งได้มีอิทธิพลอย่างมากในการส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ และประสบความสำเร็จในการลดการพึ่งพาโครงการช่วยเหลือของประเทศที่พัฒนาแล้วและเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในดุลอำนาจระหว่างประเทศ ส่งเสริมการเข้ามามีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็กต่างๆในโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

IMG_8872

             วิกฤติการณ์โรคโควิด–19 ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญในการร่วมมือกันของประเทศซีกโลกใต้ อาจกล่าวได้ว่า เราไม่อาจบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาของโลกได้โดยปราศจากความร่วมมือจากประเทศซีกโลกใต้หรือทิ้งใครไว้ข้างหลัง และแม้ภายหลังวิกฤติโรคโควิด–19 ผ่านพ้นไป ความร่วมมือยิ่งเป็นสิ่งสำคัญเพื่อการฟื้นฟูอย่างครอบคลุมและร่วมกันมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนของโลกอย่างแท้จริง

เรียบเรียงโดย น.ส.ณิชารัศม์ วัชรสุวรรณเสรี นักวิเทศสหการปฏิบัติการ สำนักงานเลขานุการกรม