ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ถูกจัดให้เป็นวาระแห่งชาติที่ประเทศไทยต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ไม่เพียงแต่ประเทศไทยที่เห็นถึงความสำคัญของ PM 2.5 ในเวที ASEAN ได้มีความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Trans boundary Haze Pollution) เป็นความตกลงทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มีการลงนามในปี 2545 โดยมีวัตถุประสงค์ในการลดมลพิษหมอกควันในอาเซียน ความท้าทายคือ เราจะแก้ปัญหาให้เป็นไปได้อย่างรวดเร็วได้อย่างไร หากแต่ละประเทศมีขีดความสามารถที่แตกต่างกัน
TICA และกรมควบคุมมลพิษได้ร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน โดยเริ่มต้นที่ประเทศเมียนมา ภายใต้โครงการส่งเสริมการจัดการคุณภาพอากาศในเมียนมา เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน
รูปแบบและแนวทางที่เหมาะสมในการทำงานร่วมกันได้กำหนดองค์ประกอบโครงการประกอบด้วย
(1) การพัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านการตรวจสอบคุณภาพอากาศ
(2) การสนับสนุนเครื่องมือในการตรวจวัดสภาพอากาศ ที่เหมาะสมกับศักยภาพในการดำเนินงานของประเทศเมียนมา รวมทั้งความพร้อมในการบำรุงรักษาเมื่อส่งมอบแล้ว
(3) การกำหนดมาตรฐานมลพิษทางอากาศร่วมกัน
สำหรับพื้นที่โครงการที่รัฐบาลเมียนมาเสนอคือ ที่เมืองท่าขี้เหล็ก (พื้นที่ชายแดนไทย- เมียนมา) และเมืองตองจี (พื้นที่เมือง) ในรัฐฉาน
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจะไม่สามารถแก้ไขได้หากทุกๆ ภาคส่วนและประเทศไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา และหากแต่ละประเทศมีขีดความสามารถในการปฏิบัติงานที่แตกต่างกัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็คงจะต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ การดำเนินโครงการนี้ประเทศไทยมุ่งหวังที่จะให้เมียนมาสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs ข้อ 13 Climate Action หรือการปฏิบัติการเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ