เมื่อพูดถึงโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือที่เรารู้จักกันโดยทั่วกันว่า โอทอป (One Tambon One Product : OTOP) คนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักกันเป็นอย่างดี ปัจจุบันสินค้า OTOP ของไทยเราได้รับการยกระดับและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ และนำรายได้กลับเข้าสู่ประเทศไทยจำนวนมาก
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ประเทศไทยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของ OTOP มายังต่อเนื่องตั้งแต่สินค้าต้นน้ำไปสู่ปลายน้ำ เป็นการพัฒนาอย่างเป็นกระบวนการทางความคิด การรักษาภูมิปัญญาไทย การท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี การต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีจุดเด่น จุดขายที่รู้จักกันแพร่หลายไปทั่วประเทศและทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากผลสำเร็จของการจัดงาน OTOP ในเวทีต่างๆ เช่น OTOP Midyear OTOP นวัตวิถี เป็นต้น ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มิตรประเทศต่างๆ ให้ความสนใจที่จะมาเรียนรู้กระบวนการในการพัฒนา OTOP ของประเทศไทย
อาจจะกล่าวได้ว่า การพัฒนาสินค้า OTOP เป็นการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคง โดยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างงานสร้างรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน
ในปัจจุบัน TICA ได้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากนี้ไปเผยแพร่ในประเทศต่าง ๆ โดยได้มีโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาใน 3 ประเทศ ได้แก่
ประเทศแรกคือ ราชอาณาจักรภูฏาน โครงการส่งเสริมด้านการเกษตรโดยการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ OGOP ของราชอาณาจักรภูฏาน (The One Gewog One Product (OGOP) Development Project) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ประเทศไทยได้แบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนา OTOP ของไทย
ราชอาณาจักรกัมพูชาก็มีแนวคิดที่จะพัฒนาสินค้าหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ของกัมพูชา หรือที่เรียกกันว่า OVOP (One Village One Product) ซึ่งกัมพูชาได้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่กัมพูชาจะสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของไทยได้ โดยมีพื้นที่โครงการที่จังหวัดกำปงจาม
สปป.ลาว มีความสนใจที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของไทย โดยจะเน้นพัฒนผู้ผลิตสินค้าหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งเมือง หรือที่เรียกกันว่า ODOP (One Distric One Product) ให้เป็นผู้ประกอบการ SMEs โดยมีพื้นที่โครงการ ที่จะดำเนินการใน 5 แขวง ได้แก่ แขวงสาละวัน ไซยะบุลี หลวงน้ำทา เชียงขวาง และอุดมไซ
ทั้งสามโครงการข้างต้น ถือว่า เป็นการนำแนวคิด OTOP ของไทยโกอินเตอร์ เพื่อช่วยมิตรประเทศได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสามารถสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยเล็ก ๆ ของสังคมที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ความร่วมมือเช่นนี้เป็นภาพสะท้อนของความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ เพื่อมุ่งหวังให้มิตรประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs