ข้อมูลความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทย

ข้อมูลความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทย

ข้อมูลการรับความช่วยเหลือของประเทศไทย : ภาพรวมการรับความช่วยเหลือ

ข้อมูลการรับความช่วยเหลือของประเทศไทย : ภาพรวมการรับความช่วยเหลือ

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ส.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 13,746 view

การรับความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาของไทย

            ประเทศไทยได้มีปรับบทบาทจาก “ผู้รับ” เป็น “ผู้ให้” แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็ยังรับความช่วยเหลือทางวิชาการจากประเทศ/องค์การระหว่างประเทศ ที่มีความเป็นเลิศในสาขาที่มีความจำเป็นต่อประเทศไทยในรูปแบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (ทุน ประเภท ๑ (ข)) โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในสาขาต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และเสริมสร้างขีดความสามารถในสาขาต่างๆ ของประเทศ ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นหรือสามารถบรรลุพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้กรอบความตกลงความร่วมมือทางวิชาการที่มีอยู่ โดยเฉพาะจาก ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี จีน เยอรมนี สหรัฐอเมริกา สวีเดน 

การรับความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของประเทศไทย ปีงบประมาณ ๒๕๖๑

๑. การรับความความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของประเทศไทยที่ดำเนินงานผ่านกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ปีงบประมาณ ๒๕๖๑

            ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ มูลค่าวงเงินรวมของการรับความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทย (ที่ดำเนินงานผ่านกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ) จากประเทศ/หน่วยงานต่าง ๆ อยู่ที่ ๖๖,๙๙๔,๘๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ ๒,๒๗๑.๑๒๓ พันล้านบาท โดยประเทศ/หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาให้ไทยสูงสุด ๓ อันดับแรก ได้แก่ ๑) สหรัฐอเมริกา ๒) องค์การสหประชาชาติ และ ๓) ฝรั่งเศส โดยมีมูลค่าการให้ความช่วยเหลือที่ ๒๘.๐๒๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ๑๔.๗๒๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ๑๐.๖๘๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

            การรับความความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของ ปทท. จำแนกตามหน่วยงานที่รับความช่วยเหลือ ปีงบประมาณ ๒๕๖๑ *เฉพาะที่ดำเนินงานผ่าน TICA

            เมื่อจำแนกตามหน่วยงานในประเทศไทยที่ได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ จากประเทศ/หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีมูลค่าสูงสุด ๕ อันดับแรก ได้แก่

                   (๑) กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน ๒๓.๔๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย  องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization – SEAMEO) องค์กรไม่แสวงหากำไร (NGOs) และกลุ่มอาสาสมัคร

                   (๒) กระทรวงสาธารณสุข จำนวน ๙.๙๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย และกลุ่มอาสาสมัคร

                   (๓) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน ๕.๗๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย และกลุ่มอาสาสมัคร

                   (๔) องค์กรไม่แสวงหากำไร (NGOs) จำนวน ๓.๓๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสหรัฐอเมริกา และองค์กรไม่แสวงหากำไร

                   (๕) องค์กรไม่แสวงหากำไรของไทย (Thai NGOs) จำนวน ๒.๓๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากญี่ปุ่น องค์กรไม่แสวงหากำไร และกลุ่มอาสาสมัคร

๒. การรับความความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของประเทศไทยที่ปรากฏในฐานข้อมูลของ OECD ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๙ - ๒๕๖๑

            ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๑ (ค.ศ. ๒๐๑๖ – ๒๐๑๘) ข้อมูลของการรับความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) ของประเทศไทยที่ปรากฏในฐานข้อมูลของ OECD นั้น อยู่ที่ ๒,๙๔๘.๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (พ.ศ. ๒๕๕๙) ๖๙๕.๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (พ.ศ. ๒๕๖๐) และ ๔,๙๗๖.๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (พ.ศ. ๒๕๖๑) ตามลำดับ โดยมูลค่าปรากฏจะเป็นการรับความช่วยเหลือของประเทศไทย ทั้งที่ดำเนินงานผ่านกรมความร่วมมือฯ และไม่ได้ดำเนินงานผ่านกรมความร่วมมือฯ (ประเทศ/หน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้ความช่วยเหลือประเทศไทยรายงานมูลค่าต่อ OECD โดยตรง)

            ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๑ (ค.ศ. ๒๐๑๗ – ๒๐๑๘) ประเทศ/หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยที่มีมูลค่าการให้ความช่วยเหลือสูงสุด ๑๐ อันดับแรก ได้แก่

                   (๑) ญี่ปุ่น จำนวน ๓๒๙.๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ๗

                   (๒) สหรัฐอเมริกา จำนวน ๔๗.๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

                   (๓) เยอรมนี จำนวน ๑๗.๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

                   (๔) Global Fund จำนวน ๑๗.๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

                   (๕) ฝรั่งเศส จำนวน ๑๖.๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

                   (๖) สหภาพยุโรป จำนวน ๑๒.๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

                   (๗) สหราชอาณาจักร จำนวน ๑๐.๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

                   (๘) UNHCR จำนวน ๖.๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐฃ

                   (๙) เกาหลีใต้ จำนวน ๔.๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

                   (๑๐) ออสเตรเลีย จำนวน ๓.๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

            โดยระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๖๑ สาขาความร่วมมือที่ไทยรับความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาประกอบด้วยสาขาต่าง ๆ ดังนี้

                   (๑) การศึกษา (Education) คิดเป็นร้อยละ ๒๑ของสาขาความร่วมมือทั้งหมด

                   (๒) สาธารณสุขและประชากร (Health and Populations) คิดเป็นร้อยละ ๑๑ ของสาขาความร่วมมือทั้งหมด

                   (๓) โครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านอื่น ๆ (Other Social Infrastructure and Services) คิดเป็นร้อยละ ๑๘ ของสาขาความร่วมมือทั้งหมด

                   (๔) โครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านเศรษฐกิจ (Economic Infrastructure and Services) คิดเป็นร้อยละ ๒๐ ของสาขาความร่วมมือทั้งหมด

                   (๕) การผลิต (Production) คิดเป็นร้อยละ ๖ ของสาขาความร่วมมือทั้งหมด

                   (๖) Multisector คิดเป็นร้อยละ ๙ ของสาขาความร่วมมือทั้งหมด

                   (๗) การช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (Humanitarian Aid) คิดเป็นร้อยละ ๑๓ ของสาขาความร่วมมือทั้งหมด

                   (๘) อื่น ๆ คิดเป็น ร้อยละ ๒ ของสาขาความร่วมมือทั้งหมด

            จากฐานข้อมูลความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) ข้างต้นแสดงให้เห็นว่า แม้ในปัจจุบันประเทศไทยปรับบทบาทจาก “ประเทศผู้รับ” (Recipient Countries) เป็น “ประเทศผู้ให้รายใหม่” (Emerging Donor) ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็ยังคงรับความช่วยเหลือทางวิชาการจากประเทศ/องค์การระหว่างประเทศที่มีความเป็นเลิศในสาขาที่มีความจำเป็นต่อประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์/การศึกษา สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาการผลิตและบริการ ตลอดจนสาขาอื่น ๆ เพื่อนำมาพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และเสริมสร้างขีดความสามารถในสาขาต่าง ๆ ของประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น สามารถสั่งสม ต่อยอดองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ เพื่อสร้างเป็นแนวปฏิบัติที่ดีในสาขานั้น ๆ และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และวิชาการให้ประเทศผู้รับอื่น ๆ ได้ต่อไป

            นอกจากนี้ กรมความร่วมมือฯ ยังมีบทบาทสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่มีการรับความช่วยเหลือเฉพาะด้านกับประเทศต่าง ๆ อาทิ โครงการความร่วมมือด้านโรคติดต่อ และระบาดวิทยากับสหรัฐอเมริกา โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีการเกษตรกับเยอรมนี การพัฒนาด้านสาธารณสุขกับญี่ปุ่น โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการรับความช่วยเหลือที่ประเทศไทยมีการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วย ซึ่งกรมความร่วมมือฯ จะมีบทบาทในการเป็นผู้ประสานงานระหว่างหน่วยงานที่รับความช่วยเหลือของไทยกับประเทศ/หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือและเป็นผู้ดำเนินการสนับสนุนการอำนวยสิทธิพิเศษให้แก่ผู้เชี่ยวชาญ/อาสาสมัครจากประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือที่เข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย